โรคไอกรนเป็นโรคที่อันตรายมากสำหรับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งในปี 2561 มีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย เหตุเพราะภูมิคุ้มกันโรคของแม่ส่งไม่ถึงลูก คกก. บัญชียาหลักฯ จึงพิจารณาว่าจะเพิ่มวัคซีนป้องกัน ไอกรน ให้แม่ตั้งครรภ์ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่
พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเริ่มพบสัญญาณโรคไอกรนที่เป็นอันตรายกับเด็กเล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กแรกเกิดจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ เพราะคนยุคก่อนมีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจากธรรมชาติ ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับที่ส่งต่อให้แก่ลูกในครรภ์ได้ แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันและไม่มีการติดเชื้อตามธรรมชาติ จึงมีภูมิคุ้มกันไม่มาก เมื่อตั้งครรภ์จึงไม่สามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันให้ลูกได้
ดังนั้น อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ว่าจะบรรจุให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้ป่วยแล้วจะเสียค่ารักษามากกว่านี้
โรคไอกรน เมื่อก่อนเรียกว่าไอร้อยวัน เป็นอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานาน หากเป็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมาก เพราะท่อหายใจมีขนาดใหญ่แล้ว สามารถรับการไอหนักๆ ได้ แต่ถ้าเป็นในเด็กเล็ก เมื่อไอหนักๆ ก็รับไม่ไหว เพราะมีท่อหายใจที่เล็ก เมื่อไอหนักเข้าจะส่งผลให้มีเลือดออกในตา อาเจียน หายใจไม่ออก จนเสียชีวิตได้
ซึ่งที่ผ่านมา การรักษานั้นต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาขยายหลอดลม เด็กต้องนอนโรงพยายาบาลเป็นเดือนๆ กว่าจะหายก็ใช้เวลาและกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่อนุมัติให้วัคซีนนี้ในแม่ตั้งครรภ์ คนมีลูกเล็กที่ยังไม่ถึงวัยรับวัคซีน คือ อายุต่ำกว่า 2 เดือนไม่ควรพาลูกไปที่คนพลุ่กพล่าน และหลีกเลี่ยงคนที่มีอาการไอต่างๆ
ส่วนเด็กเล็กที่มีอายุ 2 เดือน พ่อแม่ก็ควรพาไปฉีดวัคซีนป้องกันไอกรน โดยเข็มแรกเริ่มที่อายุ 2 เดือน เข็มต่อไปจะให้ที่อายุ 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่งและ 4 ขวบ
อ้างอิงจาก