เมื่อลูกต้องไปโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่อดห่วงไม่ได้เลย นั่นก็คือ เชื้อโรคจากที่โรงเรียนจะมาติดลูกกลับบ้านด้วย ยิ่งถ้าเพื่อนๆ เป็นหวัดแล้วมาติดลูก ก็จะทำให้ลูกป่วยเร็วขึ้น โรคฮิตที่สุดที่เด็กชอบเป็นนั่นก็คือ ไข้หวัดใหญ่ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ที่มีอาการรุนแรง และเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว พร้อมป้องกันก่อนเป็นกันดีกว่าค่ะ
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A เกิดจาก?
ไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อาจรุนแรง โดยไวรัสตัวนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้สูงกว่า มีอาการอ่อนเพลียมากกว่าไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ
ยิ่งไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A นอกจากจะรุนแรงมากแล้ว ยังมีการกลายพันธุ์ และสามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมระหว่างไวรัสของมนุษย์กับหมู หรือนกและสัตว์ปีกต่างๆ ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีโอกาสระบาดในวงกว้าง และรุนแรงมาก เช่นที่เกิดล่าสุดคือ ไวรัส A H1N1 (2009) เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก พอเริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกในปี 2009 ก็เกิดการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แล้วสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ดี ทำให้ในที่สุดไวรัส A H1N1 (2009) กลายเป็นไวรัสประจำฤดูกาลไปแล้ว
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ติดต่อด้วยทาง?
-
ไอ
-
จาม
-
สัมผัส
เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถแพร่ไปยังผู้อื่นได้ด้วยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรืออาจติดจากการที่มือไปสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา ที่สัมผัสโดนเชื้อที่ติดมากับมือนั่นเอง
-
สถานที่เจอคนเยอะๆ
ยิ่งเจอคนเยอะ ยิ่งเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในโรงเรียนจะมีโอกาสได้รับเชื้อค่อนข้างเยอะ เพราะเด็กๆ อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เล่นด้วยกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน ฉะนั้นเด็กนักเรียนจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงมักจะเป็นคนที่นำเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าบ้านได้ง่ายนั่นเองค่ะ
อาการที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A
- อาการไข้ มีไข้สูง 38 – 41°C
เด็กจะมีไข้ขึ้นสูง ประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านี้ ตัวร้อน ต้องหมั่นเช็ดตัวเป็นประจำ และต้องการการดูแลจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
- ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามตัวมาก
ปวดเมื่อยตามตัวตลอดเวลาที่เป็นไข้ ทำให้เด็กทรมาน
- อ่อนเพลียนานเป็นสัปดาห์
ร่างกายจะไม่มีแรงตอบสนอง อ่อนเพลียด้ง่าย แสดงออกชัดทางสีหน้า กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง ลุกเดินไม่ไหว
- อาการไอหนัก มีเสมหะเหนียว
ระบบทางเดินหายใจมีความผิดปกติ อาทิ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย
- เจ็บคอ คัดจมูก
- น้ำมูกข้น
การป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A
วิธีง่ายๆ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และฉีดอย่างต่อเนื่อง เพราะ ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง นั่นเพราะ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมักสูงที่สุดหลังฉีด 6 เดือนแรก และคงอยู่ได้ประมาณ 1 ปี จึงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีค่ะ วัคซีนนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคปอด และโรคหัวใจ
ทำไมควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสที่บรรจุในวัคซีนทุกปีให้ตรงกับข้อมูลที่มีการระบาด ร่วมกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ระหว่างที่ไวรัสแบ่งตัวได้บ่อย ทำให้ไวรัสที่กลายพันธุ์แล้วไม่สามารถป้องกันด้วยวัคซีนเดิมได้
ไม่อยากเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรป้องกันอย่างไร?
หากป่วยด้วยอาการไข้ เจ็บคอ ไอ และได้เดินทางไปในสถานที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้มาไม่นานเกิน 7 วัน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน และหากมีภาวะความเสี่ยงของการระบาดเกิดขึ้น ควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อ ดังนี้
– รักษาร่างกายให้แข็งแรง
– ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ใน ที่สาธารณะ
– หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่กำลังป่วยหรือเป็นหวัด
– หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝูงชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า
– หากป่วยควรเก็บตัวอยู่บ้าน และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน
– ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งขยะทันที หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าซึ่งจะใช้ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง โดยกลับด้านสะอาดขึ้นมาใหม่ (ในกรณีที่ไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรปิดปากและจมูกด้วยต้นแขนเสื้อ) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับมือหรือแพร่กระจายในอากาศ
– ไม่ควรกินยาแอสไพรินเองก่อนปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด
น่ากลัวมากๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ที่เรานำเสนอมาฟังในวันนี้ เราจึงควรดูแลสุขภาพของเราเองและลูกๆ ให้ปลอดภัยไม่เป็นโรคติดต่อต่างๆ เพื่อชีวิตที่มีความสุข ไร้โรคภัยและความเจ็บป่วยค่ะ