Parents One

รวมโรคกระดูกเด็ก แก้ได้แต่อย่าเพิกเฉย พร้อมวิธีสังเกตและผลกระทบจากการเดินที่ผิดปกติ

ร่างกายที่แข็งแรงของลูกน้อย เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่ลูกจะเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่แข็งแรง เราจึงต้องดูแลรักษาพร้อมทั้งเสริมสร้างให้กระดูกของลูกไม่หักได้ง่าย โรคกระดูกเด็กมีหลายประเภท เราขออาสาพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับโรคกระดูกต่างๆ ของเด็กกันเลยค่ะ

รู้จักกับโรคกระดูกเด็ก แก้ได้แต่อย่าเพิกเฉย

อาการที่น่าสงสัยของโรคกระดูกเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงปฐมวัยเลยค่ะ ซึ่งโรคกระดูกส่วนใหญ่จะแสดงออกมาให้เห็นทางด้านร่างกายของลูก ถ้าเราหมั่นสังเกตเราก็จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แล้วพาเขาไปพบแพทย์รักษาตามอาการได้อย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ

1. โรคเท้าบิดเข้า

“โรคนิ้วเท้าบิดเข้าด้านใน” มีลักษณะปลายเท้าของลูกนั้นจะผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ปลายนิ้วเท้าชี้เข้าหากันไม่เหมือนเด็กทั่วไป บิดๆ งอๆ ถ้าลักษณะของปลายเท้าลูกเหมือนในภาพ คุณแม่ก็สบายใจได้เลยค่ะ เพราะจากการศึกษาพบว่า เด็กทารกที่เป็นแบบนี้เกือบทั้งหมดจะกลายเป็นปกติ เมื่ออายุประมาณ 5 – 6 ขวบ แต่ก็มีประมาณ 14% เท่านั้นที่ยังคงปกติอยู่

ซึ่งการรักษามีหลายวิธีนะคะ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เท้าบิดไม่มากก็ไม่ต้องทำอะไร รอเวลาให้หายไปเอง หรือถ้ามีเท้าบิดเข้ามากก็อาจจะใส่เฝือก เพื่อดัดปลายเท้าครั้งละ 2 อาทิตย์ ซัก 2-3 ครั้งแต่ถ้าเด็กอายุมากกว่า 7 ขวบแล้วยังมีความผิดปกติอยู่ก็จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคอะไรขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปตรวจกับหมอกระดูกและข้อ หรือหมอเด็กจะได้รู้ว่าเป็นอะไรและต้องรักษาหรือไม่อย่างไร คุณแม่จะได้สบายใจขึ้นด้วยค่ะ

 

2. โรคเท้าปุก

เป็นความผิดปกติของเท้าทารกซึ่งพบว่าเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด หลังคลอดจากการตรวจร่างกายทารกจะพบว่า เท้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ทารกมีลัษณะผิดรูปตั้งแต่ข้อเท้าลงไป เท้าจิกลงด้านล่าง ฝ่าบิดเข้าด้านในและหงายขึ้น สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูผ่านอัลตราซาวด์ โรคเท้าปุก (Clubfoot) สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ การรักษาที่ได้ผลดีสูงสุดคือ หลังคลอดต้องรีบเข้ารับการรักษาทันทีค่ะ

 

3. สะโพกหลุด หรือสะโพกหลวม

สะโพกหลุด หรือสะโพกหลวม มีวิธีสังเกตข้อสะโพกหลุดง่ายๆ คือ คุณแม่ลองจับขาตั้งเข่าขึ้น จะเห็นว่าเข่าข้างที่มีข้อสะโพกหลุดจะอยู่ต่ำกว่าข้างปกติ แต่ถ้าเข่าสูงเท่าๆ กันก็อาจมีข้อสะโพกหลุดทั้ง 2 ข้าง หรือสะโพกหลุดแล้วเข้าที่เองได้ (ข้อสะโพกหลวม)

แพทย์จะมีวิธีตรวจว่าข้อสะโพกหลุด หรือข้อสะโพกหลวม และจะต้องถ่ายภาพเอกซเรย์สะโพกด้วย

สำหรับการรักษาลูกที่อายุแค่ 1 สัปดาห์ อาจจะใส่สายดึงรั้งข้อสะโพกหรือเฝือก ซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์ที่รักษาว่าจะใช้แบบไหนจึงจะเหมาะสม และที่สำคัญคุณแม่อย่าลืมถามวิธีดูแลลูก วิธีให้นม วิธีทำความสะอาด และวิธีดูแลสายดึงรั้งหรือเผือกด้วย

แนวทางในการรักษาแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้ค่ะ

ใส่อุปกรณ์พยุงข้อสะโพก 4-6 สัปดาห์ ถ้าข้อสะโพกเข้าที่ดีก็จะใส่ต่ออีกประมาณ 8 ถึง 12 สัปดาห์ เพื่อให้เนื้อเยื่อและข้อสะโพกแข็งแรงมากขึ้น

รักษาด้วยวิธีดึงให้เข้าที่และใส่เฝือก

รักษาด้วยการผ่าตัดดึงกระดูกให้เข้าที่ หรือผ่าตัดกระดูกต้นขา กระดูกสะโพก และเชิงกราน

 

4. ขาโก่ง

ภาวะขาโก่งหรือขาฉิ่งนั้น มักจะเป็นกับเด็กทารกแรกเกิดเกือบทุกคนเพราะในขณะที่อยู่ในครรภ์ เพราะในมดลูกที่มีพื้นที่อันน้อยนิดของแม่ช่วงสุดท้ายก่อนคลอดต้องอยู่ในท่างอตัว งอเข่า งอสะโพก ขา เท้าไว้เป็นเวลานาน เมื่อคลอดออกมาก็ทำให้เห็นว่าขาโก่งซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า Physiologic Bow Legs โดยเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายจะเริ่มพัฒนาและขาก็จะเริ่มตรงได้เอง

พัฒนาการของเด็กปกติ

ถ้าลูกอายุ 2 ขวบเป็นขาฉิ่ง และมีลักษณะเหมือนกันทั้ง 2 ข้างก็แสดงว่าปกติค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไปไม่ต้องสนใจนะคะ ยังมีสิ่งที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตถ้ามีขาโก่งมากขึ้นเร็วขึ้นหรือถ้าทางเดินผิดปกติไม่แน่ใจก็พาไปพบแพทย์ก่อนนัด แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดความผิดปกติแบบนั้น แต่ถึงแม้ว่าจะผิดปกติมาก ก็ยังมีวิธีการที่จะรักษาค่ะ เช่น ใส่เฝือก อุปกรณ์ดัดท่อ หรือผ่าตัดค่ะ

 

5. นิ้วหัวแม่มือเกิน

นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าอาจมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าเท้าละ 5 นิ้ว ซึ่งนิ้วที่เกินจะมีขนาดเล็กกว่านิ้วหัวแม่มือปกติ ช่วงเวลาในการผ่าตัดที่เหมาะสมคือ 1 ถึง 2 ขวบค่ะ ร่างกายเด็กจะแข็งแรงพอที่จะทนต่อการดมยาสลบในระหว่างผ่าตัดได้ค่ะ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ว่านิ้วที่เกินนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เช่นเส้นเอ็น กระดูกข้อต่อ เป็นต้น เพื่อที่คุณหมอจะได้ทำการผ่าตัดเอานิ้วนั้นออกได้ โดยลูกจะไม่เป็นอันตรายค่ะ

 

6. โรคเข่าโก่งขึ้น

โรคเข่าโก่งขึ้น มีลักษณะตรงหัวเข่านั้นโก่งจนทำให้รูปลักษณ์ของขาเด็ก มีลักษณะผิดปกติไปจากเด็กธรรมดาค่ะ

โรคเข่าโก่งขึ้น พบไม่บ่อยในเด็กนะคะ การรักษาเริ่มด้วยการดัดเข่า และใส่เฝือกเป็นระยะทุก 1-2 อาทิตย์ ค่อยๆ ดัดเข่าจนกระทั่งเขางอได้มากกว่า 90 องศา ทำใจไว้ก่อนเลยว่าอาจจะต้องใส่เฝือกหลายเดือน และหลังจากเอาเฝือกออกแล้วก็ต้องมาพบแพทย์ตามนัดเป็นระยะ เพราะมีบางรายที่เข่ากลับมาโก่งขึ้นอีก

ซึ่งถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่อายุน้อยกว่า 3 เดือน จะมีโอกาสดีขึ้นถึงมากถึง 80% แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดค่ะ

7. เท้าแบน เท้าโค้ง

โรคเท้าแบน คือ ลักษณะของเท้าที่ไม่มีอุ้งเท้า ถ้ามองจากด้านในของเท้าจะเห็นว่าแบนราบแนบไปกับพื้น

ถ้าเอาสีหรือดินโคลนทาทาแล้วเหยียบบนกระดาษจะได้ภาพของอุ้ง เท้าปกติจะมีรอยเว้า แต่ถ้าเป็นเท้าแบนจะไม่มีรอยเว้า

อีกประเด็นที่สำคัญ คือเรื่องของพัฒนาการตามธรรมชาติของเท้า ในเด็กแรกเกิดจะไม่มีอุ้งเท้า เมื่อเริ่มหัดเดินจึงเริ่มมีอุ้งเท้า และจะพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายเท้าผู้ใหญ่เมื่ออายุ 5-6 ขวบ

เท้าแบนจะมี 2 แบบ

1 เท้าแบนแบบยืดหยุ่น
ถ้ายกเท้าขึ้นจากพื้นจะมีอุ้งเท้า แต่เมื่อยืนลง น้ำหนักอุ้งเท้าจะหายไป พบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป

2 เท้าแบนแบบแข็ง
เท้าจะแบนผิดรูปตลอดเวลา ไม่ว่าจะลงน้ำหนักหรือไม่ก็ตาม

สำหรับผู้ที่มีฝาเท้าแบนแบบยืดหยุ่น และไม่มีอาการเจ็บปวดไม่จำเป็นต้องรักษาการใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าตัดรองเท้าแบบพิเศษ หรือทำท่าบริหารไม่ช่วยให้มีอุ้งเท้าสูงขึ้นได้ สรุปว่าถ้าเป็นอุ้งเท้าแบนแบบยืดหยุ่นสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน เล่นกีฬาได้เต็มที่เหมือนคนทั่วไปไม่มีข้อจำกัดค่ะ แต่ถ้าเป็นฝ่าเท้าแบนแบบแข็งมีอาการเจ็บเมื่อเดิน หรือวิ่ง หรือมีฝ่าเท้าแบนเพียงข้างเดียวควรพาไปพบแพทย์ค่ะ

วิธีการรักษาเบื้องต้น

1 ให้ควบคุมน้ำหนัก
2 ใช้อุปกรณ์เสริมพื้นรองภายในรองเท้า เช่น เสริมส้นเท้าให้สูงขึ้น 0.5 ถึง 1 cm หรือเสริมบริเวณอุ้งเท้าด้านใน เป็นต้น แต่ถ้ามีอาการมาก หรือเท้าผิดรูปอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตัดรองเท้าแบบพิเศษเฉพาะตัว
3 ทำกายภาพบำบัดบริหารกล้ามเนื้อเส้นเอ็นฝ่าเท้า เช่น การฝึกใช้เท้าเก็บสิ่งของ เป็นต้น

 

วิธีสังเกตว่าลูกเป็นโรคกระดูกเด็กหรือไม่

เนื่องจากคณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด อย่าขู่ลูกว่าหมอจะฉีดยา ถ้าดื้อหรือซน หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ เพราะนั่นเป็นการปลูกฝังให้เด็กกลัวการไปโรงพยาบาล รวมทั้งกลัวคุณหมอด้วย ตั้งแต่ยังไม่รู้ความว่าจริงๆ แล้ว โรงพยาบาลนั้นคือคนช่วยให้เด็กแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับร่างกายของเขาได้ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือเก่า ต้องเลิกขู่ลูกๆ หลานๆ กันเถอะค่ะ เพราะถึงเป็นเด็กก็คงไม่ชอบการโดนผู้ใหญ่หลอกนั่นเอง