Parents One

พ่อเเม่เตรียมรับมือ!! 7 วิธีเปลี่ยนลูกให้เลิกพูดคำหยาบ

คำหยาบถือได้ว่าเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่นั้นไม่อยากให้ลูกพูดเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าลูกน้อยเริ่มพูดคำหยาบแล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

คนในครอบครัวเป็นแบบอย่างที่ดี

เมื่อไม่อยากให้ลูกพูดคำหยาบแล้ว คนที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างคนในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรเป็นแบบอย่างในการพูดสื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่สุภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ค่ะ

มีโปรแกรมที่ช่วยควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกใช้สื่อผ่านจอ ควรมีโปรแกรมที่ช่วยควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสื่อที่มีความก้าวร้าว รุนแรง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ควรดูร่วมไปกับเด็ก เมื่อเห็นว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ก็ควรจะพูดคุยและชี้แจงให้ลูกฟังว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ควรทำตามค่ะ

ถามที่มาของคำหยาบ

เมื่อลูกเริ่มพูดคำหยาบ คุณพ่อคุณแม่ควรถามลูกว่าได้ยินมาจากที่ไหน พร้อมถามว่าคำที่ลูกพูดออกมามีความหมายว่าอย่างไร เพื่อที่จะได้ทราบว่าลูกเข้าใจความหมายของคำที่พูดหรือไม่ หากลูกไม่เข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะบอกความหมาย และบอกว่าลูกไม่ควรพูดคำนั้นๆ พร้อมให้เหตุผลค่ะ

บอกผลที่ตามมาถ้าพูดคำหยาบ

เมื่อลูกเริ่มพูดคำหยาบ บางทีคุณพ่อคุณแม่ลองบอกถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการพูดคำหยาบของลูก เช่น หากหนูพูดคำหยาบ คุณพ่อคุณแม่จะไม่อยากคุยกับหนู และเพื่อนๆ ก็อาจจะไม่อยากมาเล่นกับหนู เป็นต้นค่ะ

สร้างกฎ กติกา เมื่อลูกพูดคำหยาบ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างกฎ กติกา เมื่อลูกพูดคำหยาบ ลูกจะได้จำและไม่พูดคำหยาบอีก เช่น อาจหักค่าขนม งดดูทีวี งดไปเที่ยวนอกบ้าน เป็นต้นค่ะ

ชื่นชมลูกเมื่อพูดเพราะ

ในขณะเดียวกันเมื่อลูกเริ่มพูดเพราะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมด้วยถ้อยคำที่สุภาพและไพเราะค่ะ

พูดได้บ้างตามความเหมาะสม

กรณีที่ลูกโตเป็นวัยรุ่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจผ่อนผันให้พูดคำหยาบได้บ้างตามความเหมาะสม และควรเน้นย้ำให้ลูกพูดเฉพาะกับกลุ่มเพื่อนของตนเองเท่านั้น ลูกจะพูดคำหยาบกับคนในบ้านและคนอื่นๆ ไม่ได้ค่ะ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าจะมีวิธีการใดที่รับมือกับการพูดของลูกน้อยแล้ว สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสถานการณ์เลยนะคะ

ที่มา – phyathai