เมื่อปัญหาลูกน้อยชอบอมข้าวนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่คุณแม่ทุกคนต่างปวดหัวด้วยกันทั้งนั้น จะมีวิธีใดบ้างที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มาดูกันเลยค่ะ
กินให้ตรงเวลา
คุณแม่สามารถฝึกลูกกินข้าวให้ตรงเวลาได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพราะการที่ให้ลูกกินข้าวตรงเวลาจะทำให้เคยชินกับการเคี้ยวข้าวเวลานั้นๆ และไม่มัวแต่อมข้าว โดยกินให้ตรงตามมื้อทั้งเช้า กลางวัน และเย็นค่ะ
เก็บสิ่งล่อใจ
ก่อนที่จะให้ลูกน้อยกินอาหารนั้น ควรเก็บสิ่งล่อตาล่อใจอย่างของเล่นเสียก่อน อีกทั้งคุณแม่ไม่ควรเปิดทีวี หรือเล่นโทรศัพท์ เพราะจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิกินข้าวจนอมข้าวได้ค่ะ
ใช้จานใบโปรด
หากลูกชอบจานแบบหรือลายไหนเป็นพิเศษ คุณแม่ก็ให้ลูกใช้เป็นจานข้าวประจำตัวได้เลยค่ะ เพราะจะได้เพิ่มความสนใจในการกินไปด้วย ทำให้ลูกสนุกกับการกินข้าวจนไม่อมข้าวนั่นเองค่ะ
ตักข้าวน้อย
ตอนตักข้าวให้ลูกทานควรตักข้าวให้ลูกน้อยไว้ก่อนจะได้ดึงความสนใจ หากลูกกินใกล้หมดก็เติมให้ อาหารควรตัดเป็นชิ้นพอดีคำเพื่อให้ลูกเคี้ยวได้ง่าย เมื่อลูกกินข้าวในจานหมดก็อย่าลืมชมเชยลูกด้วยนะคะ
ทำของโปรดของลูก
การทำอาหารของโปรดลูก เขาจะปลื้มอกปลื้มใจกับการกินมากขึ้น การมีความสุขในการกินจะลดการอมข้าวลงได้ อย่าลืมเสริมผักเข้าไปด้วยนะคะ ลูกจะได้สุขภาพแข็งแรงค่ะ อย่างไรก็ตามการกินข้าวไม่ควรมีข้อแลกเปลี่ยนอะไรนะคะ เพราะจะทำให้เด็กๆ ติดนิสัยต่อรอง แค่เก็บสิ่งล่อใจและกินให้เป็นเวลาก็จะเปลี่ยนนิสัยเด็กๆ ได้แล้วค่ะ
นั่งกินพร้อมกับผู้ใหญ่
การที่ลูกได้นั่งกินข้าวพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ค่ะ เพราะลูกกจะได้เห็นแบบอย่างที่ดีในการกินข้าว และไม่เหงาที่จะนั่งกินคนเดียว โดยคุณพ่อกับคุณแม่ควรกินไปพร้อมๆ กับลูกด้วย หากลูกอมข้าวก็ให้รีบเตือนอย่างทันท่วงที เช่น ลูกไม่ควรอมข้าวนะคะ หากไม่กินแม่ก็จะเก็บ และไม่มีให้กินอีกแล้วนะคะ
ถ้าอยากกินเองก็ไม่ห้าม
ถ้าลูกกเริ่มอยากตักข้าวทานเองหรือเอามือหยิบอาหารใส่ปากเอง เปิดโอกาสให้ลูกทำเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเลอะเทอะก็ตาม แต่ลูกรู้สึกท้าทายความสามารถและอยากทำให้ได้ ทำให้ลูกรู้สึกสนุกกับการกินจนโอกาสการอมข้าวนั้นลดลงค่ะ
ชมเมื่อไม่อมข้าว
การชมลูกเมื่อลูกทำได้ดีอย่างเช่นการไม่อมข้าวนั้น ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจ จำได้ว่าการไม่อมข้าวแล้วมีคนชมเขา ก็ยิ่งอยากทำดีอีกหลายๆ ครั้ง จนลูกติดนิสัยการไม่อมข้าวไปเองค่ะ
ปรึกษาแพทย์
ถ้าคุณแม่สังเกตแล้วลูกนั้นมีปัญหากล้ามเนื้อในการเคี้ยวและกลืนจริงๆ ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ ซึ่งจะได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวและกลืนโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกายภาพบำบัดค่ะ
โดยรวมแล้ว ถ้าทำให้การกินข้าวของลูกน้อยนั้นสนุกขึ้นมาได้ จะทำให้ปัญหาการอมข้าวของลูกน้อยนั้นหายไปได้ค่ะ
ที่มา