คุณพ่อคุณแม่เคยพบปัญหาอาการแพ้อาหารของลูกน้อยกันบ้างไหมคะ เชื่อว่าไม่มากก็น้อย เด็กๆ น่าจะมีอาการแพ้บางอย่างโดยที่เราไม่ทันได้ระวัง อาทิ การแพ้นม, แพ้ถั่ว, แพ้ไข่และที่คาดไม่ถึงที่สุดก็คือการแพ้แป้งในข้าวสาลีซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักเลยที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อยทั้งร่างกายและระบบของสมอง ซึ่งการแพ้แป้งสาลีนั้นสามารถออกอาการได้ตั้งแต่วินาทีแรกหลังทานเสร็จ , เกิดขึ้นได้หลักจากนั้นเป็นชั่วโมงรึมีอาการติดต่อกันอีกหลายวันเลยทีเดียว แบบนั้นจึงยิ่งทำให้อันตรายค่ะกว่าจะรู้ว่าลูกของเรามีอาการแพ้ ดังนั้นเราจะมาสังเกตกันว่าอาการไหนที่จะทำให้รู้ว่าลูกของเราแพ้แป้งสาลี
อาการของการแพ้แป้งสาลี
- ผิวหนังก่อให้เกิดผื่นแดงคัน, ผื่นลมพิษ มีอาการหน้าบวม, ตาบวม, ริมฝีปากบวม และคันคะเยอ
- ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการน้ำมูกไหล, ไอ, จามหรือหากรุนแรงมากๆ อาจอักเสบไปถึงปอดนำไปสู่อาการหลอดลมตีบเฉียบพลันได้
- ระบบทางเดินอาหารจะมีอาการปากบวม, คลื่นไส้, ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกกลืนอะไรไม่ได้ อยากเอาออกตลอด
- ระบบประสาทหรือระบบหัวใจส่งผลให้มีอาการ เวียนศีรษะ, ความดันโลหิตต่ำ, เบลอและมึนงงไม่ค่อยมีสติและหากแพ้หนักๆ อาจลามไปถึงการเสียชีวิต
สาเหตุที่ทำให้แพ้แป้งสาลี
- พันธุกรรมของคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีอาการแพ้หรืออ่อนไหวได้ง่ายกับการรับประทานแป้งสาลี
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรงพอให้ทานได้
- ช่วงอายุในการได้รับอาจยังเล็กเกินกว่ากระเพาะจะรับได้ ทำให้ตอนยังเล็กมากไม่สามารถทานได้แต่พอเริ่มโตก้ทานได้เป็นปกติ
- การใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงจนทำให้ภูมิต่างๆ ถูกกดต่ำไปด้วย
วิธีป้องกันอาการแพ้แป้งสาลี
- คุณแม่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ลูกในท้องไม่จำเป็นต้องงดทานแป้ง, นม, ถั่ว
- ให้ดื่มนมแม่จนอายุถึง 6 เดือนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ได้มากที่สุดกับลูกน้อยในช่วงเสริมภูมิของร่างกาย
- ค่อยๆ ลองให้ชิมอาหารที่อาจแพ้ทีละนิดเพื่อสังเกตอาการแพ้ว่ามีหรือไม่ หากแพ้ให้หยุดทันที
- หลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี อาที ขนมปัง สปาเกตตี้ เค้กหรือแม้แต่ขนมอบต่างๆ
- มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีคำว่า wheat free, gluten free นั่นหมายถึงไม่มีส่วนผสมของแป้งสาลี
- หากมั่นใจแล้วว่ามีอาการแพ้หนัก แม้แต่ละอองก็ทำให้รู้สึกวิงเวียนไม่สบายต้องรีบนำพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกจุด
ที่มา : happymom, breastfeedingthai, thaichildcare