อาการเมื่อเด็กไม่ได้ดั่งใจสามารถแสดงได้หลากหลายมาก ซึ่งมีหลายครั้งที่ลูกไม่ได้ดั่งใจแล้วลงไปนอนดิ้นๆ กับพื้นเลย แบบนี้คุณแม่จะรับมือได้อย่างไรบ้าง
พาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ
เวลาที่ลูกร้องไห้เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการจนลงไปนั่งดิ้นชักกระตุกๆ ที่พื้น สิ่งแรกที่คุณแม่ต้องทำคือ การเข้าไปอุ้มลูก กอดลูกไว้ โดยไม่ต้องไปโวยวาย ไปดุด่าว่าลูก แค่กอดลูกไว้เฉยๆ แล้วพาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ เช่น ร้านขนม ร้านของเล่น
ให้ความสำคัญกับลูก ขณะที่ลูกเป็นเด็กดี
เด็กปกติทั่วไปจะยังไม่เเสดงอาการลงไปนอนดิ้นๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กว่าเวลาประพฤติกรรมตัวดี ๆ น่ารัก ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ หรือชี้ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีและเหมาะสมแล้ว แต่พอเด็กลงไปนอนดิ้นเท่านั้นล่ะ ผู้ใหญ่จะรีบวิ่งเข้าหาเพื่อปลอบหรือให้ความสำคัญ หรือเข้าไปดุ ว่า ตี สั่งสอน ดังนั้นการที่คุณแม่แสดงออกเช่นนั้นเท่ากับว่าให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกนั่นเอง หากคุณพ่อคุณแม่ ให้ความสำคัญก่อนลงไปนอนดิ้นๆอยู่บ่อยๆ ไม่ละเลย ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ ทำให้ลูกเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องลงไปนอนดิ้นๆเพื่อเรียกร้องความสนใจ
สร้างกฎเกณฑ์บางอย่างระหว่างแม่และลูก
ในกรณีที่เอาแต่ใจตัวเอง ทุกอย่างต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็จะลงไปนอนดิ้นๆ เด็กลักษณะนี้มักจะถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเด็กมากเกินไป จนไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด โดยที่คุณแม่จะพยายามทำทุกอย่างตามที่เด็กต้องการ เพื่อจะได้ไม่ลงไปนอนดิ้นๆ และเด็กเองก็เรียนรู้การใช้เป็น “ไม้ตาย” เวลาไม่ได้ดั่งใจเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการเลี้ยงดูลูกใหม่อย่าคิดว่าการทำทุกอย่างเพื่อป้องกันมิให้เด็กลงไปนอนดิ้นๆ นั้น จะทำให้ลูกเติบโตขึ้นมีคนรักคนชอบมากมาย ลูกเองต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ลดการตามใจ ฝึกให้ช่วยตนเองเพิ่มขึ้น สิ่งใดที่เล่นไม่ได้ก็อย่าให้เล่นถึงแม้ว่าเด็กจะอาละวาดจนลงไปนอนดิ้นๆ ขนาดไหน ก็อย่าสนใจ แต่ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น
ฝึกให้ลูกควบคุมอารมณ์
ฝึกให้ลูกควบคุมอารมณ์ ทั้งอารมณ์รัก ชอบ ดีใจ ไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ เป็นอารมณ์ที่พบได้ในเด็กวัย 3 – 5 ปี หน้าที่ของคุณแม่ก็คือสอนให้เด็กรู้ทันว่าตนเองรู้สุขอย่างไร และฝึกให้หัดควบคุมอารมณ์ หรือฝึกวิธีระบายอารมณ์ ซึ่งมีหลายวิธีตั้งแต่การพูดคุย การทำสิ่งทดแทน เช่นโกรธจัด ๆ ก็ไปเตะฟุตบอล หรือว่ายน้ำ หรือวาดรูปเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้ไตร่ตรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
เพิ่มทักษะในการเล่น
ลองให้ลูกเพิ่มทักษะในการเล่น เช่น การว่ายน้ำ เล่นบอล ถีบจักรยาน วาดรูป เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ ฯลฯ เพราะการเล่นในเด็กมีความหมายเท่ากับการทำงานของผู้ใหญ่ ในชีวิตจริงคุณแม่พบว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ความผิดหวัง ความเสียใจ ความโกรธแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การเล่นและการทำกิจกรรมจะทำให้ลูกผ่านภาวะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ได้มีเวลาไตร่ตรอง และระบายความรู้สึกผ่านการเล่นนี้เอง
เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ปัญหาของเด็ก 3 – 5 ปี มักหนีไม่พ้นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ทำน้ำหก ติดกระดุมเขย่ง หารองเท้าไม่พบ ฯลฯ ดังนั้นการฝึกหัดให้ลูกได้รู้จักแก้ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลทำให้ลูกมีความชำนาญที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่ผิดหวังได้เก่งกว่าเด็กที่ช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งก็คงทำได้แค่ส่งเสียงกรี๊ดๆ ลงไปนอนดิ้นๆ รอให้คุณแม่เข้ามาช่วยเหลืออีกตามเคยค่ะ
ให้ลูกหัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองและเข้าสังคม
ลองให้ลูกได้หัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง เช่น พ่อแม่อาจจะเริ่มฝึกลูกตอน 2 ขวบ ให้เริ่มใส่เสื้อผ้าเอง, กินข้าวเอง, ดื่มน้ำจากแก้วเอง ฯลฯ และควรพาลูกไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อลูกไปเจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกจะเรียนรู้การแบ่งปัน การได้รับและการให้ เมื่อฝึกลูกให้เข้าสังคมแล้ว การแสดงอารมณ์ที่ที่ไม่เหมาะสมก็จะน้อยลง
ถือว่าเป็นวิธีเบื้องต้นในการแก้ไขเมื่อลูกลงไปนอนดิ้นๆ เวลาที่ไม่ได้ดั่งใจนะคะ สำคัญที่การฝึกลูกน้อยให้ควบคุมอารมณ์ให้ได้ และไม่ตามใจจนเหลิงค่ะ
ที่มา