จากการศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงจากประสบการณ์เลวร้ายประเภทต่างๆ เช่น คำพูดที่ทำให้รู้สึกต่ำต้อยและอับอาย การถูกทอดทิ้งทางกายและทางความรู้สึก การใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่ที่มีโรคทางจิต การเห็นแม่ของตนถูกรังแกต่อหน้าต่อตา เป็นต้น บาดแผลในวัยเด็กเหล่านี้ เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยเรื้อรังเมื่อโตขึ้นไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาให้มากขึ้น และเยียวยาจิตใจจากบาดแผลในวัยเด็กด้วยทางเลือกที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะมีการบำบัดด้วยวิธีใดบ้างไปติดตามกันค่ะ
“ช่วงปีของวัยเด็กไม่ได้สูญหายไปไหนเลย แต่เป็นเหมือนรอยเท้าของเด็กที่เหยียบลงบนซีเมนต์เปียก ซึ่งแปลว่ามันถูกประทับไปตลอดชีวิต”
ประโยคจากหนังสือ “เกินกว่าเจ็บปวด Childhood Disrupted”
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความทุกข์เรื้อรังเหล่านี้ได้เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองของเด็ก เปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งมันไปกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดด้วยกระบวนการอักเสบที่มากเกินไปสำหรับชีวิต เลยทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่รอยประทับแห่งประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในสมองของเรา ก็สามารถลบร่องรอยเหล่านี้ไม่ให้ติดตัวเราไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน
วิธีบำบัดจากบาดแผลในวัยเด็ก
1. เขียนเพื่อบำบัด
การเขียนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต มันคือวิธีการที่ได้ระบายสิ่งที่อึดอัดที่เก็บกดไว้นาน ซึ่งจากงานวิจัยทางจิตวิทยา ได้ชี้ชัดว่า การเขียนช่วยให้ผู้ป่วยลดความตึงเครียดลงได้ นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเสนอชุดการเขียนไว้เป็นตัวอย่าง คือ ช่วงสี่วันจากนี้ ขอให้เขียนถึงอารมณ์ในส่วนลึกสุด และเลือกเวลาเขียนให้เหมาะ ปล่อยวางและสำรวจเหตุการณ์นั้นว่ามันส่งอย่างไร อาจจะโยงกับประสบการณ์นี้เข้ากับวัยเด็ก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ คนที่เคยรักหรือยังรักอยู่ เขียนไปเรื่อยๆ วันละ 20 นาที
2. วาดเพื่อบำบัด
อาจจะเริ่มต้นวาดภาพที่พอจะนึกออก เป็นภาพทิวทัศน์ หรือภาพครอบครัวดูว่าเกิดภาพอะไรขึ้นมาได้บ้าง จากนั้นทิ้งภาพนั้นไว้และกลับมาดูใหม่ในวันหลังเพื่อวิเคราะห์ ทำเหมือนว่ากำลังแปลความฝัน มันช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรขึ้นบ้างหรือไหม ในกระบวนการ “ศิลปะบำบัด” ถึงแม้ยังไม่สามารถสรุปได้ถ่องแท้ถึงกระบวนการนี้ ที่ช่วยเปิดเผยบาดแผลในอดีตได้อย่างไร แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหาสิ่งที่ลืมไปหรือจิตใต้สำนึกที่พยายามซ่อนไว้
3. การฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิเป็นวิธีที่ซ่อมแซมสมองได้ดีที่สุด ช่วยเปลี่ยนสมองของเราได้ เพราะมันคือการดูแลจิตใจตนเองเป็น สามารถลดความเครียดได้เร็ว ที่สถาบันด้านจิตเวชที่นำเรื่องการฝึกสมาธิไปใช้กับเด็กที่มีบาดแผลทางใจ สามารถทำให้วงจรสมองที่เคยอ่อนแอจากความทุกข์กลับแข็งแรงขึ้นได้ รวมทั้งกลีบสมองส่วนหน้าและฮิปโปแคมปัสด้วย ซึ่งการฝึกสมาธิยังช่วยให้คนเราควบคุมอารมณ์ และทบทวนตัวเองได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้การทำสมาธิยังทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชะลอลงซึ่งจะทำให้จิตใจกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้เร็วขึ้น
4. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายหรือการฝึกโยคะ เป็นการซ่อมร่างกาย เพื่อปลดปล่อยเราจากอดีตที่เคยต้องต่อสู้ หนี ถอย หรือภาวะการแช่แข็งมาตลอดชีวิต ช่วยปลดปล่อยความตึงเครียดที่สะสมในกล้ามเนื้อและลดกระบวนการอักเสบได้
5. ฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางกาย
การฝึกฝนด้วยการกลับมารับรู้ความรู้สึกทางกาย คือกระบวนการที่ช่วยให้กลับมาดำรงอยู่กับศูนย์แกนกลางของจิตใจ ผ่อนแรงขับต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ร่างกายลง ซึ่งช่วยให้เปลี่ยนสภาวะที่ดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับไหลมาสู่การรับรู้อย่างมีสติ การรับรู้ความรู้สึกทางกายเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ ที่กักเก็บไว้
6. เข้าบำบัดกับนักบำบัด
เข้าบำบัดกับนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเยียวยาบาดแผลในวัยเด็ก เพราะเพียงการดูแล กาย ใจ จิต ในแบบที่เราถนัด อาจจะไม่เพียงพอต่อการสะสางอดีตที่ยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำ การที่มีนักบำบัดจะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมอง และความรู้สึกที่เด็กมีต่อตัวเองจะค่อยๆ พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้น นักบำบัดผู้มีความเชี่ยวชาญยังมีอีกหลากวิธีในการนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลได้ด้วยการใช้การจินตนาการเชิงบวก เพื่อกระตุ้นการจัดการกับความรู้สึกทางกายและความทรงจำลบๆ ที่ผุดขึ้นมาอีกด้วย
มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความหวาดกลัว ขี้ระแวงเกินเหตุ และด้วยสภาวะเซลส์สมองอักเสบระดับต่ำๆ โดยอาจจะไม่รู้ตัว สมองก็จะถูกกำหนดการทำงานที่ต้องสู้กับภาวะอารมณ์ขุ่นเคืองไม่แจ่มใส และไม่อาจใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ มองสิ่งต่างๆ เกินเลยจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขานั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ และโดยส่วนใหญ่พวกเขามักจะมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเลวร้ายมากกว่าคนอื่น ดังนั้นการบำบัดบาดแผลในวัยเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเราละเลยก็จะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ
ข้อมูลจาก – the potential