fbpx

แชร์ประสบการณ์ "ติวลูกเข้าสาธิต" ด้วยตัวเอง แบบได้ผลจริง

Writer : parentsone
: 3 ตุลาคม 2560

เชื่อว่าหลายคนที่มีลูกอยู่ในวัยอนุบาลตอนปลาย มีความตั้งใจที่จะอยากให้ลูกได้สอบเข้าโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ กันอยู่ แต่คำถามที่ส่วนตัวเองก็ถูกถามบ่อยจากเพื่อนๆ และคนใกล้ตัวก็คือว่า ทำอย่างไรลูกถึงเข้าสาธิตได้? หรือติวอย่างไรลูกจึงสอบเข้าได้?

ก่อนอื่นอาจจะต้องแนะนำตัวก่อนว่า ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองนะคะ ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ ชั้น ม.1 ส่วนลูกชายเรียนอยู่ ชั้น ป.3 รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา เรียกสั้นๆ ว่า “สาธิตเกษตร” นั่นแหละค่ะ โดยที่ตัวเองนั้น ทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย มีคุณสามีช่วยเกะกะบ้าง เอ๊ย! ช่วยดูแลในเรื่องการไปรับไปส่งค่ะ

ส่วนตัวแล้วเป็นเด็กเรียนปานกลางค่ะ สามีก็เหมือนกัน ดังนั้น เลิกหวังดีเอ็นเอด้านฉลาดหรืออัจฉริยะไปได้เลย ยากมากจริงๆ

เรียนก่อนว่าเหตุที่อยากจะให้เข้าสาธิตเกษตรฯ ให้ได้นั้นเป็นเพราว่าโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านค่ะ อยู่หน้าปากซอยบ้านนี่เอง (แต่แค่ยูเทิร์นรถไปมาก็ใช้เวลาร่วมครึ่ง ชม.แล้ว ใครอยู่แถวแยกเกษตรคงทราบดี) ซึ่งถ้าบวกกับการที่เราไม่ต้องไปส่งลูกไกล อีกทั้งการที่เรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ยิงยาวไปจนถึง ม.6 ได้เป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนใฝ่ฝันมากๆ เลย ดังนั้น “สาธิตเกษตร” จึงเป็นเรื่องที่ครอบครัวเราตั้งใจจะให้ลูกเข้าได้เป็นลำดับแรกค่ะ

กลับมาที่เรื่องของเราว่า แล้วทำอย่างไรดิฉันถึงสามารถให้ลูกเข้าสาธิตเกษตรฯ  ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ต้องทำงานไปด้วย ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวของลูกๆ เอง ทั้งความขยัน ความตั้งใจ และการเรียนที่พอใช้ได้ของทั้งคู่ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความมุ่งมั่นของเราในครอบครัวด้วย

หลักใหญ่ใจความที่คุณต้องทำสิ่งแรกเลย ในเมื่อคุณเองก็มีงานในมือรับผิดชอบ ลูกมีการบ้านต้องรับผิดชอบ (ถึงมันจะไม่มากก็เหอะ) และที่สำคัญที่สุดเลยคือ ลูกจะต้องมีเวลาพักผ่อนด้วย!

แบ่งเวลาให้เป็นแบบแผน

ปกติมนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่เลิกงานเวลา 17.00-18.00 น. แต่หลายคนกว่าจะถึงบ้าน ก็ค่อนข้างดึกมากแล้ว การจะหาเวลาว่างจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้เบื้องต้นก็คือ ตั้งกติกาตกลงกับลูกว่า การบ้านที่พอทำได้ให้ทำก่อนคุณพ่อคุณแม่ถึงบ้าน เมื่อเขาทำก่อนก็จะมีเวลาพักผ่อนพ่อแม่กลับมา ถ้าการบ้านชิ้นไหนทำไม่ได้ก็เว้นไว้รอกลับมาแล้วจะช่วยกันทำ ซึ่งทำให้งานที่เหลือน้อยมาก (แต่ส่วนใหญ่การบ้านอนุบาลก็น้อยมากอยู่แล้วค่ะ)

เมื่อถึงบ้านทักทายลูก ถามไถ่กันให้ผ่อนคลายก่อน เพื่อปรับทั้งอารมณ์เราและอารมณ์ของลูก จากนั้นก็ค่อยหยิบแบบฝึกหัดให้ลูกทำค่ะ แนะนำว่า จันทร์-ศุกร์ ซึ่งเป็นช่วงเย็น ให้ทำแค่วันละ 2-3 หน้าพอคะ (ดูตามความยากง่ายของบทเรียน สลับกันในแต่ละวิชา เพื่อไม่ให้เบื่อ เช่นวันนี้ติวเลข วันพรุ่งนี้ก็เป็นภาษาไทย หรือเชาวน์ สลับๆ กันไป

แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องดูความพร้อมของลูกนะคะ ถ้าวันนั้นเขาไม่พร้อมจริงๆ อาจจะด้วยหงุดหงิดเพราะทะเลาะกับเพื่อนมา หรือเหนื่อยล้าจากการเดินทาง แนะนำว่าให้ข้ามไปเลยคะ เพราะการฝืนไปสิ่งที่ลูกได้รับคือ ‘ศูนย์’ เด็กเล็กๆ ความพร้อมด้านอารมณ์จะช่วยทำให้เขารับและจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่า ไม่งั้นเราก็จะเหนื่อยเปล่าทั้งคู่

ส่วนช่วงเวลาเสาร์อาทิตย์ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้พาไปติวอย่างเช่นปุ้ยก็ไม่ได้ให้ลูกไปติวที่ไหน ก็ให้ทำแบบฝึกหัดอยู่กับบ้านค่ะ วันละ 2 ชั่วโมงยาวๆ ไปเลยค่ะ เพื่อให้เขาเข้าใจการแบ่งเวลาให้เป็น ว่าวันนี้แม่ขอติว 2 ชั่วโมงนะคะ ส่วนวิชาที่เลือกจะเน้นเรื่องที่ลูกยังไม่เข้าใจให้มากหน่อย ส่วนเรื่องที่ลูกพอทำได้ ก็เหลือแค่อย่างละครึ่งชั่วโมงค่ะ

ใช้ทุกยามว่างให้เป็นประโยชน์ สร้างสันทนาการผ่านการเรียนรู้

ถามว่าเราใช้ทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ใช่ไหม ใช่ค่ะ จะทำให้ลูกเครียดไปไหม นั่นคือสิ่งที่เรากังวลเช่นกัน แต่สิ่งที่ปุ้ยได้ลองทำ เรารู้สึกว่าเราทำผ่านกลเม็ดต่างๆ ในรูปแบบเกม เรื่องเล่า ฯลฯ เพื่อไม่ให้ลูกเครียด แต่ลูกสามารถซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่รู้ตัวว่า “ฮันแน่! นี่แม่ติวสอบให้หนูอยู่นะ” เลยอยากจะแชร์สิ่งนี้ให้กับทุกท่านเผื่อได้ลองไปทำค่ะ

  • อ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังหรือให้เด็กฝึกอ่านเป็นเรื่องดีอย่างไร้ข้อกังขา ไม่ว่าด้วยหลักการทางสังคมหรือวิทยาศาสตร์ต่างก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง

แต่หลักของการสอดแทรกการติวซึ่งอยู่ในการสอบสาธิตก็คือ การสรุปใจความจากเรื่องที่อ่าน หรือคุณได้แง่คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีอยู่ในข้อสอบสาธิตทุกปี ดังนั้น หลังการอ่านแล้วคำถามง่ายๆ ที่เราจะใช้ติวลูกก็คือ อ่านแล้วหนูคิดว่าอย่างไรกับเรื่องนี้? เรื่องนี้สอนเราเรื่องอะไร? หรือถามไปตามเนื้อเรื่องเช่น หมูทำอะไรนะ? หรือ แม่มดทำอะไรนะ? ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถทำได้ทุกครั้งก่อนนอนเลยค่ะ หรือยามที่คุณและลูกว่าง

และถ้าไม่มีหนังสือ เราก็ยังทำได้ผ่านเรื่องเล่า นิทานสั้นๆ ที่เราแต่งขึ้นเอง เพื่อฝึกให้ลูกได้จดจำ และคิดตาม พร้อมกับตั้งคำถามง่ายๆ ขึ้นมา แต่ที่สำคัญคืออย่าทำให้รู้สึกเครียด เพราะถ้าเครียดก็จะไม่สนุกล่ะ

  • เกมควิกซ์สนุกๆ

ระหว่างเดินทางรถติด ระหว่างรอคิวเข้าร้านอาหาร ทราบไหมคะว่าเราสามารถใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ก็ได้ เช่น แข่งบวกลบเลขไม่เกิน 10 ง่ายๆ กันในรถ ฝึกต่อคำท้ายพยางค์ เช่น รูปู คำต่อไปก็ต้องเป็น ป.ปลา ร้อยแข่งกันไปเรื่อยๆ แบบนี้ โดยจะเปลี่ยนเป็น พยัญชนะบ้าง เป็นสระบ้าง แล้วแต่ผลัดกันไปเรื่อยๆ ค่ะ

  • อ่านป้าย

เชื่อว่าเกมนี้น่าจะเป็นกันทุกบ้าน เห็นป้ายร้าน ป้ายชื่อถนน ให้ลูกฝึกอ่านเล่นๆ ค่ะ โดยทำให้เป็นเกมสนุกๆ มีของรางวัลล่อใจบ้าง ตามโอกาส เพื่อเป็นกำลังใจและให้เขารู้สึกสนุกจริงๆ สิ่งที่ได้จากเกมนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของการช่วยจดจำ แต่จะเป็นการฝึกอ่านโจทย์ต่างๆ ค่ะ (แม้ว่าคุณครูจะเป็นคนอ่านโจทย์ให้ตอนสอบก็ตาม แต่การอ่านเองก็จะมีประโยชน์กว่าจริงไหมคะ)

  • เล่าข่าวสารต่างๆ

หนึ่งในข้อสอบที่มักจะมีทุกปีคือ เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันและความรู้รอบตัว ซึ่งแน่นอนว่าในสมุดคู่มือติวอาจจะไม่มี แต่มันเกิดจากการเราได้หยิบเรื่องพวกนี้มาพูดคุยให้ลูกฟังบ่อยๆ ชักชวนพูดคุย เช่น ลูกรู้ไหมว่าจังวัดที่ 77 ของไทยคืออะไร หรือวันที่ 5 ธันวาคมนอกจากจะเป็น “วันพ่อ” แล้ว ยังเป็น “วันดินโลก” อีกด้วย ฯลฯ

ปรึกษาอาจารย์ประจำชั้น

ควรได้มีโอกาสแจ้งกับอาจารย์ประจำชั้นของลูกว่าเรามีจุดมุ่งหมายนี้อยู่ อยากให้อาจารย์ช่วยให้คำแนะนำว่าลูกเราอ่อนหรือแข็งตรงไหน เพื่อจะได้เสริมได้ถูกต้อง และเพื่อให้อาจารย์ให้คำแนะนำเราได้อย่างดีทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียนได้

ให้กำลังใจกันและกัน ไม่กดดันเกินไป

สุดท้ายแล้วก็คือ เราอย่าไปกดดันลูก อย่าพยายามพูดตอกย้ำว่า ถ้าไม่ทำจะเป็นเด็กไม่ดี ไม่น่ารัก พ่อแม่จะไม่รักนะถ้าสอบไม่ติด ฯลฯ สิ่งที่ทำได้คือการให้กำลังใจ ถ้าทำได้ก็ชื่นชมลูก ให้กำลังใจ แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ก็ไม่ต้องกดดัน ให้โอกาสได้พัก พร้อมแล้วก็ค่อยเริ่มกันใหม่ นอกจากนี้ อย่าเอาลูกเราไปเปรียบกับญาติ หรือลูกคนอื่น เพื่อกดดันลูก บางครั้งด้วยความไม่ตั้งใจที่เรายกตัวอย่างให้ลูกฟัง จะทำให้ลูกเกิดความกดดันหรือน้อยใจไม่รู้ตัวได้

ที่สำคัญที่สุดสิ่งที่อยากจะฝากเพื่อนๆ พ่อแม่ทุกคนนะคะ อยากจะเรียนว่าการเข้าเรียนสาธิตไม่ใช่ที่สุดของการเรียนของลูก หลายสถาบันก็มีการเรียนการสอนที่ดีไม่แพ้กัน ย้อนกลับไปเมื่อวันสอบลูกคนแรก เคยเห็นภาพของการที่พ่อแม่รีบวิ่งไปรับลูกหลังจากสอบเสร็จช่วงเช้า เพื่อวิ่งรอกไปสอบอีกสถาบันช่วงบ่าย มันก็มีขึ้นจริงๆ ตรงจุดนี้ยอมรับว่าเป็นนานาจิตตัง แต่ถ้าคุณคิดว่าสำหรับเด็กอายุแค่ 5-6 ขวบ ที่ต้องแบกรับการสอบถึง 2 แห่งในวันเดียวได้มันหนักกันไปหรือไม่ อยากให้เพื่อนพ่อแม่ผู้ปกครองหยุดคิดสักนิดก่อนว่านี่คือคุณได้ทำเพื่อลูกหรือทำเพื่ออะไร? สุดท้ายแล้วขอให้ทุกคนโชคดีค่ะ

 

 

 

Writer Profile : parentsone

  • Social Media :

  • Official Sponsors :
  • Samitivej Hospital

Generic placeholder image

บทความที่เกี่ยวข้อง



7 ข้อคิดจากการดูการ์ตูน Finding Nemo
ชีวิตครอบครัว
Update
anal porno zdarma culi nudi al mare free sex videos antalya escort

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save