ทุกวันนี้อีกหนึ่งอุบัติเหตุที่คนเป็นพ่อแม่มักได้รับข่าวที่มาพร้อมกับความสูญเสียเสมอก็คือเรื่องของการจมน้ำ ที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบโดยที่บางครั้ง ก็มักจะเกิดขึ้นในตอนที่เราไม่ได้ระวังตัว หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจนไม่สามารถยื่นความช่วยเหลือเข้าไปได้ทันท่วงทีจนทำให้เกิดเรื่องขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็มักจะเกิดจากการที่เราคลาดสายตาจากลูก หรือลูกอยู่ในจุดอับสายตา
ดังนั้นสำหรับบทความนี้ ทาง Parents one จะมาแนะนำวิธีดูแลลูกในแบบฉบับที่เริ่มจากการระวังของตัวเราเองว่าจะสามารถป้องกันอย่างไรได้บ้าง ซึ่งทุกบ้านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่เด็กวัยเล็กเริ่มเดินไปจนถึงวัย 3-4 ขวบเลยนะคะ
หลัก 3 อย่าที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ
อย่าใกล้
ทุกครั้งที่เห็นว่ามีแหล่งน้ำ ต้องบอกลูกเสมอว่า อย่าใกล้ หรือเข้าไปใกล้โดยเด็ดขาด รวมถึงตัวผู้ปกครองเองเมื่อเห็นว่ามีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ ต้องพาลูกออกจากบริเวณนั้นทันที
อย่าเก็บ
เมื่อมีสิ่งของตกลงไปในน้ำ ต้องสอนลูกเสมอว่าอย่าเก็บ มีอะไรให้เรียกพ่อแม่เสมอเมื่อทำของตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บเอง หรือหากเห็นเองเลยว่ามีของตก ต้องรีบเข้าไปเก็บแทนลูก อย่าบอกให้ลูกเก็บเอง
อย่าก้ม
เวลาเราทำความสะอาดบ้าน หรือซักผ้าก็มักจะต้องใช้ถังน้ำ หรือกะลามังในการรองน้ำไว้ซึ่งปริมาณน้ำเพียงเท่านั้นก้สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้แล้ว ดังนั้นต้องบอกเด็กๆ ไว้เสมอว่า อย่าก้ม ลงไปมองในน้ำเด็ดขาด และตัวเราเองเมื่อมีถังน้ำสูงๆ ในบ้าน ก็ควรนำลูกไปไว้ให้ห่าง หรือแม้แต่บ่อน้ำละแวกบ้านเองก้ต้องระวังไม่ให้ลูกเราเข้าไปเล่นใกล้ๆ
หากเราจำหลัก 3 อย่าได้ขึ้นใจแล้ว ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายบ้าน สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้มากเลยล่ะค่ะ แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ต้องหูตาไวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ลูกน้อยวัยกำลังซนเดินไปไหนมาไหนคนเดียวโดยที่เราไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ค่ะ ซึ่งระยะที่ปลอดภัยในกรณีที่เราจะพาจอมซนวัยเตาะแตะไปลงเล่นน้ำเองก็มีหลักให้สังเกต และคาดคะเนความอันตรายหรือความเสี่ยงที่จะเกิดได้ดังนี้
เมื่อพาลูกไปเล่นน้ำ
อายุต่ำกว่า 3 ขวบ
- ต้องอยู่ในระยะวงแขนคว้าทัน
- ไม่ปล่อยให้คลาดสายตา ต้องคอยมองตลอด
อายุ 3-6 ขวบ
- อยู่ในระยะเกินวงแขนได้ แต่ต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
- ต้องไม่คลาดสายตาเช่นกัน
และเหตุที่ต้องให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ อยู่ในสายตาตลอดนั่นก็เพราะเมื่อเด็กทำการลอยตัวขึ้น จนเท้าไม่แตะพื้น การที่เขาจะกลับมายืนได้เหมือนเดิม นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเด็กเล็กจะยังไม่สามารถทรงตัวหรือควบคุมร่างกายได้ดีพอ เราถึงได้เห็นเด็กหลายคนที่ยังจมน้ำ หรือสำลักน้ำแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตามค่ะ ฉะนั้นผู้ใหญ่จะคลาดสายตาไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
เมื่อมีเด็กคนอื่นจมน้ำจะสอนลูกอย่างไร
นอกจากที่เราจะต้องระวังลูกเราแล้ว การไปกับเที่ยวเล่นกับเพื่อนเองนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการมีคนใดคนหนึ่งจม และอีกคนพยายามเข้าไปช่วย จนทำให้เกิดเรื่องขึ้น ดังนั้นนอกจากวิธีป้องกันตัวที่เราสอนให้กับเขาและเราแล้ว ยังต้องสอนอีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือเมื่อพบว่าเพื่อนหรือใครจมน้ำอยู่ ต้องยึดหลัก 3 อย่าง
- ตะโกน เมื่อพบเห็นคนจมน้ำ ให้ตะโกน หรือรีบบอกคนอื่นให้มาช่วย อย่าลงไปในน้ำเอง
- โยน มองหาสิ่งของที่น้ำหนักเบา สามารถใช้เกาะได้ลงไปอย่าง ห่วงยาง, โฟม
- ยื่น หาไม้ หรือ เชือกยื่นมาไปให้โดยที่ตัวเรายังคงอยู่บนฝั่ง ระวังตัวอยู่เสมอ ไม่ให่ตัวไถล หรือเข้าใกล้ขอบฝั่งมากเกินไป
ต้องย้ำเตือนลูกของเราให้ขึ้นใจ ว่าเมื่อพบใครก้ตามจมน้ำ อย่าลงไปช่วยเหลือเอง ต้องบอกผู้ใหญ่เสมอ จนกว่าเขาจะโตพอดูแลตัวเองได้ และมีร่างกายที่แข็งแรงมากพอที่จะดูแลตัวเองได้เมื่ออยู่ในน้ำ
ที่มา youtube , thaincd , thaihealth