” ทำไมทำท่าทางแบบนี้ ”
” ไปเลียนแบบใครมาเนี่ย! ไม่น่ารักเลย ”
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและสื่อมากมายมีให้เลือกเสพไม่หวั่นไม่ไหว โดยเฉพาะกับเด็กๆ ในบ้านเองก็เติบโตมาพร้อมกับโลกออนไลน์ สื่อทุกอย่างจึงสามารถซึบซัมและเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วจนผู้ใหญ่แบบเราๆ ตามกันไม่ทัน คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงต้องเริ่มหาทางรับมือเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กวัยกำลังเรียนรู้ เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนทำให้ติดกลายเป็นนิสัย
เด็กแก่แดดนั้นเกิดจากอะไรบ้าง
หากให้เราพูดถึงพฤติกรรมการเลียนแบบเราคงทราบกันดีว่า การเลียนแบบเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็กซึ่งสามารถเลียนแบบได้ตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบจนตลอดการเติบโตเป็นวัยรุ่น แต่หลายๆ คนเองคงสงสัยว่า ทำไมเด็กบางคนนั้นถึงได้มีการเลียนแบบท่าทางที่ดูโตเหมือนผู้ใหญ่หรือบางทีแสดงออกเกินไปจนเกินงาม เช่น เลียนแบบท่าทางการพูดเหมือนตัวละครบนหน้าจอ, มีการแสดงกริยาที่ดูเป็นหนุ่มเป็นสาวกว่าวัยรึแม้แต่จำคำหรือการกระทำไม่ดีมาปฏิบัติเองจนต้องดุไปหลายยกว่าไม่ควร อย่างการด่าทอ, ทุบตี, ก้าวร้าว ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้มาแบ่งออกได้ดังนี้
- เลียนแบบจากละคร, ภาพยนตร์ที่ชอบ
- เลียนแบบจากพ่อแม่, ผู้ใหญ่ในบ้าน
- เลียนแบบจากสภาพสังคมที่ตนอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน, สนามเด็กเล่น, ครู, เพื่อน
เราจึงจำต้องมาหาทางแก้ไขร่วมได้ด้วยกัน! ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ในการกระทำต่อไปนี้
เป็นตัวอย่างที่ดี
จะอย่างไรข้อแรกนั้นก็คงไม่พ้นเรื่องการเป็นแบบอย่างของลูกเพราะผู้ปกครองคือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับเขา การเลียนแบบนั้นจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นไปได้ว่าเพราะเราใช้เวลาร่วมกันอยู่ตลอดเวลาจึงมักจะทำให้เราไม่ทันได้ระวังตัว ดังนั้นต้องเริ่มปรับจากพฤติกรรมของเราก่อน เช่น
- พยายามไม่พูดคำหยาบหรือด่าทอผู้อื่นต่อหน้าลูก
- ไม่ทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายกันต่อหน้าลูก
- ปฏิบัติตนให้อยู่ในกฏเกณฑ์ที่ตั้งภายในบ้านเพื่อให้ลูกจดจำเป็นแบบอย่าง
หมั่นสังเกตรายการทีวี, คลิปที่ลูกชอบ
เราอาจจะไม่ได้เฉลียวใจว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กดูโตกว่าวัยมาจากการเลียนแบบสื่อที่เสพ ลูกอาจใช้เวลาอยู่กับสื่อเพียงลำพังจนซึมซับมาใช้อย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การพูด, คำติดปากรึแม้แต่พฤติกรรมเลียนแบบ หากรับสื่อไม่ดีเข้ามามากๆ ก็อาจทำให้มีการทำตามจนกลายเป็นนิสัยจริงไปได้
ดั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสังเกตสิ่งที่เด็กๆ เปิดดูอยู่เสมอ, คัดกรองรายการดีๆ ลดรายการหยาบคายหรือโตกว่าวัย, แนะนำแต่รายการหรือไอดอลที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยความสนุกสนานสมวัย
ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดูเกินวัย
บางครั้งเห็นลูกเลียนแบบนางร้ายในละคร ก็รู้สึกว่าน่ารัก ” เล่นถึงพริกถึงขิงเสียจริงนะ ” ” เล่นอีกลูก ตลกดี ชอบดูๆ ”
แน่นอนว่าเวลาเห็นลูกกล้าแสดงออกในสิ่งที่คาดไม่ถึงเรามักจะเผลอหลุดหัวเราะหรือรู้สึกสนุกไปกับท่าทางนั้นด้วยความเอ็นดู ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ในความจริงมันกลับกลายเป็นการสนับสนุนในสิ่งที่ลูกคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เขาเริ่มนำไปเล่นหรือใช้กับคนภายนอกและลามหนักสุดคือทำพฤติกรรมเหล่านี้พร่ำเพรือจนก่อให้เกิดความรำคาญในที่สุด เช่นนั้นแล้วสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกเริ่มทำพฤติกรรมเหล่านี้คือ
- ไม่ตำหนิ, ดุด่าแต่อาศัยพูดให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
- ไม่แสดงอาการชอบอกชอบใจหรือสนับสนุน, แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่านี่เป็นกริยาที่ไม่ได้น่าให้ความสนใจ
- พูดคุยด้วยเหตุผลกับลูกว่าสิ่งที่ทำนั้นส่งผลดีหรือไม่ดีอย่างไร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
กับอีกสิ่งที่พึงควรคิดให้มากเสมอคือการส่งเสริมให้ลูกรู้จักการแต่งตัว, แต่งหน้าและการแสดงออกมากจนเกินไป เพราะเด็กนั้นมีการเรียนรู้ตามวัยของเขา การพยายามให้เขารู้จักสิ่งต่างๆ เร็วเกินก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งชนวนที่ทำให้ลูกติดอยู่กับชีวิตที่ทำอะไรเกินเด็กและส่งผลถึงเรื่องความต้องการที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย อาทิ อยากได้เซ็ตเครื่องสำอางใหม่, ต้องการมือถือหรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็น, อยากมีเสื้อผ้าใหม่อยู่ตลอดเวลา
ใช้เวลากับลูกให้มาก
เป็นอีกหนึ่งข้อที่ดูเหมือนง่ายแต่ในความจริงยากพอสมควรในสังคมปัจจุบันกับบทบาทคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องรับผิดชอบการทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่ถึงอย่างไรการได้ใช้เวลากับลูกเป็นอีกหนึ่งทางที่นอกจากจะช่วยให้เราได้ดูแลความประพฤติของลูกแล้ว ก็ยังช่วยให้เราได้เข้าใจความคิดและความรู้สึกเขามากขึ้นด้วย และเมื่อมีเวลาให้แล้วสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือ
- ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกชอบ
- พูดคุยกับลูกเพื่อที่จะได้รู้จักกับทุกมุมมองที่ลูกแสดงออก
- ถามไถ่และฟังเหตุผลต่างๆ ของลูกให้มาก
ที่มา : women.mthai, amarinbabyandkids, women.mthai