สำหรับคู่รักที่อยากเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้ว บางท่านก็มีความใฝ่ฝันที่จะแต่งงานกันและได้มีสักขีพยานรักสักคนไว้ให้ได้ชื่นใจใช่ไหมคะ แต่ในปัจจุบันเองก็มีคู่รักอีกหลายคู่เลยที่ยังคงต้องการใช้ชีวิตคู่เพียงเราสองต่อไปอีกซักระยะด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่นฐานะทางการเงินยังไม่พร้อม, ไม่มีพื้นที่หรือเวลาในการดูแลลูก, ไม่สามารถฝากหรือวานใครช่วยเหลือในการเลี้ยงได้
และถ้าเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจขึ้นมาก็จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัยเลย
แล้วจะทำอย่างไรได้บ้างไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น เรามาดูไปด้วยกันเลยค่า
สาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
เราคงจะเคยเห็นกันผ่านมามาบ้างกับคำว่าท้องไม่พร้อมซึ่งจริงๆ นั้น การท้องไม่พร้อมไม่ได้มีเพียงเรื่องของอายุวัยที่สมควรเท่านั้นนะคะ ยังมีอีกหลายสาเหตุเลยที่ทำให้เกิดการท้องไม่พร้อม และสามารถแบ่งออกมาได้ดังนี้
- ตั้งครรภ์ในช่วงวัยที่ไม่เหมาะสม ในส่วนนี้ สามารถแบ่งได้เป็นทั้งอายุน้อยไปหรือมากไปในการตั้งครรภ์ ทำให้ไม่เกิดความพร้อมที่จะต้องใช้เวลาดูแลหรือเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่ เช่น อายุเพียง 13-14 ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอในการดูแลรวมไปถึงความมั่นคงทางการเงินด้วย, ส่วนของอายุที่มากไป ก็อาจเป็นช่วงวัยที่ไม่เหมาะกับการมีบุตรเพราะอาจส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติสูงกว่าเด็กคนอื่น รวมไปถึงสภาพร่างกายของคนคลอดเองด้วยว่าอาจไม่แข็งแรงมากพอในการต้องรับมือเด็กอ่อน, สภาวะช่วงคลอดของตน
- สภาวะร่างกายไม่พร้อมจะมีบุตร อาจเกิดการจากที่ร่างกายของคนที่ต้องตั้งครรภ์ ยังไม่มีความแข็งแรงพอที่จะโอบประคองอีกหนึ่งชีวิตไว้ได้ อาจก่อให้เกิดการแท้งในระหว่างที่ครรภ์อายุมากหรือเกิดอาการครรภ์เป็นพิษได้
- ฐานะทางการเงินยังไม่อำนวย ก็สามารถอธิบายได้อย่างตรงตัวเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายว่ายังไม่มีรายได้หรือเงินทุนพอที่จะรับเลี้ยงอีกหนึ่งชีวิตในครอบครัว ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้แม้จะอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมหรือมีคู่ครองที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมแล้วก็ตามเพราะหากเลือกได้ ทุกคนย่อมอยากจะให้ลูกของตนได้โตมาด้วยความเพียบพร้อมและชีวิตที่สุขสบาย เช่นนั้นแล้วการตั้งครรภ์ในวันที่ทุกสิ่งยังไม่รองรับก็เป้นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ
- ถูกกระทำชำเราโดยไม่สมยอม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่น่าเศร้าเพราะบางครั้งการตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ อาทิ เกิดจากเหตุของการถูกทำอนาจาร, ถูกข่มขืนหรือแม้แต่ถูกฝ่ายคู่ครองกดขี่บังคับให้ตั้งครรภ์โดยที่ผู้ที่ต้องตั้งครรภ์ไม่ต้องการ ก็ถือว่าเป็นการท้องที่ไม่พร้อมเช่นกัน
เมื่อตั้งครรภ์ไปแล้วจะทำอย่างไร
ในกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้วนั้น ก็จำเป็นจะต้องหาทางแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานะของผู้ตั้งครรภ์โดยยึดความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้ตั้งครรภ์เป็นหลักว่าต้องการเลือกทางไหนในการใช้ชีวิตซึ่งทางเลือกที่มี มีอยู่ 2 ทางคือ
ตั้งครรภ์ต่อไป
เป็นทางเลือกที่ทางผู้ตั้งครรภ์คิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าหากให้กำเนิดเด็กแล้วนั้น จะมีแผนรับรองตั้งในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ว่าจะต้องมีรายรับเท่าไหร่จึงจะพอกับรายจ่ายต่างๆ, มีผู้ช่วยหรือคนดูแลพอช่วยเหลือพอหรือไม่ และในอนาคตมีความมั่นคงมากแค่ไหนกับการดูแลชีวิตใหม่ต่อไปในระยะยาวซึ่งสิ่งที่ต้องประเมินต่อไปนี้ ต้องยึดหลักตามนี้
- ความพร้อมของผู้ตั้งครรภ์และครอบครัวในการรับเรื่อง
- วางแผนการเงินให้ดี
- เตรียมสุขภาพให้พร้อมกับผู้ที่ตั้งครรภ์
ยุติการตั้งครรภ์
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีกฏหมายรับรองรวมไปถึงได้รับการยอมรับในทางสากลมากขึ้นเพราะในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายหรือปัจจัยในการเลี้ยงเด็กนั้นมีข้อปฏิบัติหลายอย่างที่ต้องอาศัยความพร้อมและการยิมยอมจริงๆ ของผู้ตั้งครรภ์ซึ่งถ้าได้ตัดสินใจเป็นที่แน่นอนแล้วว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็สามารถทำได้โดยให้อยู่ในเงื่อนไขในหลายๆ อย่างของทางกฏหมายและทางการแพทย์ ดังนั้นการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้สองวิธี
- ใช้เครื่องสุญญากาศในการดูดออกจากมดลูกสำหรับอายุครรภ์ 5-12 สัปดาห์ สามารถทำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ใช้ยาขับ ใช้ในกรณีอายุครรภ์ยังไม่เกิน 9 สัปดาห์ซึ่งตัวยาจะต้องออกโดยแพทย์ที่ได้ผ่านการอบรมและรู้เรื่องชนิดยาเหล่านี้มีมากๆ แล้วเท่านั้น
หรือในกรณีที่ยังไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรดีกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ สามารถรับบริการจากหน่วยงานที่มีความชำนาญและเข้าใจถึงปัญหาที่เจอเป็นอย่างดี ได้ที่เบอร์ 1663 ซึ่งเป็นเบอร์ให้คำแนะนำและฟังปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่พบเจอ และจะหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดกับเหตุการณ์ของผู้ตั้งครรภ์ที่พบเจอค่ะ
กฏหมายเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์
หากผู้ที่ตั้งครรภ์เลือกแล้วว่าต้องการที่จะยุติการตั้งครรภ์ด้วยสภาพแวดล้อมและ การตัดสินใจที่เด็ดขาดแล้วนั้น ก็สามารถเรียนรู้ข้อมูลและกฏหมายเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ได้ดังนี้
- อายุครรภ์ในการยุติ ควรไม่เกิน 12 สัปดาห์
- ได้รับความยินยอมจากตัวผู้ตั้งครรภ์ว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์ของตนเองในกรณีอายุเกิน 15 ปี
- หากมีอาการครรภ์เป็นพิษ หรืออาจส่งผลผิดปกติต่อทารกหลังการคลอด สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใน 20 สัปดาห์หรือหากอายุครรภ์มากกว่านั้น จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่รับผิดชอบ
- แพทย์ที่ทำการยุติให้ ต้องมีใบรับรองประกอบวิชาชีพและใบอนุญาต
- ในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่สมยอม, ถูกกระทำชำเรา สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
- สภาพจิตใจของผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ซึ่งสามารถประเมินได้โดยแพทย์ที่รักษาดูแล
ความกังวลในการยุติการตั้งครรภ์
การที่ผู้ตั้งครรภ์เลือกจะยุติการตั้งครรภ์แล้ว มักจะต้องพบเจอกับปัญหาแรงกดดันหลายๆ อย่างตามมาโดยที่ตนไม่ทันตั้งตัว ซึ่งประเด็นในแต่ละด้านนั้น มักส่งผลถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์โดยตรงอย่างมาก อาทิ
- ความรู้สึกผิดที่ต้องตัดสินใจเลือกหนทางนี้
- คนรอบข้างและสังคมบีบคั้นหรือตำหนิด้วยการใช้มุมมองของเขามาตัดสินตัวผู้ตั้งครรภ์โดยไม่ได้มองสภาพความพร้อมและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์
- สุขภาพร่างกายย่ำแย่ลงเพราะความตึงเครียด และแรงกดดัน
- ถูกต่อว่าเรื่องบาปบุญต่างๆ
ให้กำลังใจผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์
สำหรับความรู้สึกของผู้ตั้งครรภ์เองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลเอาใจใส่เพราะการที่คนคนหนึ่งต้องตัดสินใจทำสิ่งที่มีความเสี่ยงและอันตราย ย่อมมีความกดดันและความเศร้าสลดในตัวของผู้ที่ต้องการยุติอยู่แล้ว ดังนั้นในสภาวะของการตัดสินใจนี้ สิ่งที่คนรอบข้าง และสังคมควรมอบให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และต้องการที่จะก้าวต่อไปในอนาคตที่ดีกว่า ควรปฏิบัติดังนี้
- คนรอบข้างและผู้ตั้งครรภ์เองต้องมีมุมมองใหม่ๆ ในการช่วยกันดูแลจิตใจกันและกันมากกว่าที่จะซ้ำเติมหรือตอกย้ำว่าการยุตินี้เป็นเรื่องที่ผิด
- เคารพการตัดสินใจของผู้ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็เป็นสิทธิ์ที่เจ้าของครรภ์ควรได้เลือก
- ไม่พูดจาลดทอนกำลังใจหรือโยงเข้าเรื่องบาปบุญหากจุดประสงค์ที่ต้องทำนั้นมีความจำเป็นและได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้ตั้งครรภ์และบุคคลรอบข้างเป็นที่พึ่งพิง
- ให้ผู้ตั้งครรภ์ได้ระบายความอัดอั้นหรือเจ็บปวด เป็นที่รับฟังที่ดีเสมอ
- เมื่อทุกสิ่งผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ต้องรู้สึกถูกทอดทิ้งหรือเดียวดาย คอยอยู่ให้กำลังใจและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบอยู่เสมอ
อย่างหนึ่งที่ทั้งคนรอบข้างและสังคมต้องเข้าใจเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์นั้น ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตัวผู้ตั้งครรภ์และเด็กที่จะเกิดมาเพราะหากไม่มีความพร้อมทั้งร่างกาย, วุฒิภาวะหรือะรายรับที่มากพอก็อาจก่อให้เกิดความทุกข์, ความลำบากตามมาได้เช่น ตัวผู้ปกครอง อาจจะต้องพบกับปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตัว, ไม่มีคนช่วยเลี้ยงหรือส่งเสีย, อาจพลาดโอกาสในอนาคตอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ทำและในเวลาเดียวกันเด็กที่เกิดมา ก็จะไม่ได้รับความรักอย่างที่ควร, ไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่ดีพอ ซึ่งสุดท้ายของการแก้ปัญหา อาจจบด้วยความรุนแรงหรือการสูญเสียที่มีมากยิ่งกว่าเดิม
ดังนั้น ค่านิยมต่างๆ ที่สืบทอดกันมาหรือความกลัวในบาปบุญต่างๆ ไม่สามารถตัดสินได้จากความเห็นของบุคคลอื่นแต่ต้องให้เจ้าของร่างกาย, เจ้าของชีวิตของตัวผู้ตั้งครรภ์เป็นคนเลือกตัดสินด้วยตัวของเขาเองจึงจะดีที่สุด
ที่มา : pobpad , rtcog, baby.kapook, womenhealth, matichon , aidsaccess