ลูกไม่ใช่ผู้ใหญ่ในร่างเด็ก เขาก็มีโอกาสทำผิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ หรือบางครั้งก็อาจต้องการความสนใจจากเรา แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้คือ สอนให้เขารู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ผิดหรือถูก และรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังเข้าใจอะไรไม่ได้มากนัก แล้วเราจะสอนเขาอย่างไรดี วันนี้มีแนวทางที่เคยใช้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันค่ะ 🙂
ฟังเหตุผลของลูกก่อน
การรับฟังไม่ได้แปลว่า เรายอมรับสิ่งที่ลูกทำ แต่การฟังจะช่วยให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น และลูกก็จะรู้สึกได้ว่าเรา “ฟัง” เขาอย่างแท้จริง เช่น เล่าให้แม่ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าทำไมลูกถึงทำแบบนั้น (พูดถึงพฤติกรรมของลูก) อย่ารีบด่วนสรุปปัญหาและตัดสินปัญหาด้วยการตำหนิ หรือตีไปก่อนนะคะ
ใช้คำพูดสั้น กระชับ กับลูก
การใช้คำพูดเพื่อหยุดพฤติกรรมสำหรับเด็กเล็ก ควรใช้คำพูดที่สั้นและกระชับ เช่น “ทำไม่ได้นะคะ” “หยุดทำเดี๋ยวนี้นะคะ” มากกว่าการพูดหรืออธิบายกันยาวเหยียด เพราะจะทำให้เด็กต่อต้านไม่ฟังหรืออาจหันมาใช้วิธีดื้อเงียบแทน
สอนสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อลูกรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ควรช่วยให้ลูกเรียนรู้การแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น ใช้คำพูดบอกความรู้สึก “หนูไม่ชอบเล่นแบบนี้” หรือหากทำของเสียหาย ชำรุด ก็ช่วยกันซ่อม หรือลดค่าขนมสำหรับลูกที่โตขึ้นมาหน่อย เพื่อให้เขาเรียนรู้รับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง
ฝึกให้ลูกได้คิด
การตั้งคำถาม เป็นวิธีที่ช่วยสอนให้ลูก (ฝึก) คิดให้เป็น เช่น ลูกหยิบของเล่นเพื่อนมา เพื่อนจะเล่นอะไร เพื่อนจะเสียใจไหม ถ้าเป็นลูกลูกจะเสียใจไหม แล้วเราควรทำอย่างไรดี (ถ้าลูกยังคิดไม่ออก) อาจช่วยกันคิดได้ เช่น เราเอาไปคืนเพื่อนและขอโทษเพื่อนกันนะคะ
คุยถึงบทเรียนที่ได้รับจากการทำผิดในครั้งนี้
คือการพูดคุยถึงบทเรียนในครั้งนี้ว่า สิ่งที่ลูกทำผิดคืออะไร สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร และอย่าลืมที่จะชมเชยในความน่ารักที่ลูกเราพยายามแก้ไข และสอนลูกด้วยว่า คนเราทำผิดพลาดกันได้ และเมื่อทำผิดก็ต้องแก้ไข รับผลของการกระทำนั้น