Parents One

เทคนิครับมือลูกต่อต้าน ไม่ให้ดื้อรั้นกว่าที่เป็นอยู่

ความดื้อถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คุณพ่อคุณแม่มักจะพบเจอ ซึ่งความดื้อคือพัฒนาการตามวัยของเด็กอย่างหนึ่ง การที่เด็กเล็กวัย 0-6 ปี แสดงอาการต่อต้านคุณพ่อคุณแม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและพัฒนาการ แล้วจะมีเทคนิคใดบ้างที่จะรับมือลูกวัยต่อต้าน ไม่ให้ดื้อรั้นกว่าที่เป็นอยู่ มาดูกันเลยค่ะ

สงบสติอารมณ์

เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่เองต้องอารมณ์เย็นเสียก่อน ความใจเย็นจะทำให้รับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเทคนิคนี้ห้ามทำตอนมีอารมณ์ไม่พอใจ เพราะจะกลายเป็นเหมือนทอดทิ้งลูกไปค่ะ

มองหน้าลูก

คุณพ่อคุณแม่จะต้องมองหน้าและสบตาลูกให้ได้ แสดงถึงความจริงใจและจริงจังในคำที่จะพูด และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจังว่า “แม่/พ่อจะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”

เพิกเฉยลูก

ต่อมาให้คุณพ่อคุณแม่เพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ เพราะจะเป็นการเพิกเฉยไม่จริง รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่ามีท่าทีทอดทิ้งลูกไป ต้องเป็นท่าทีว่าเรามีงานอื่นที่ต้องทำ เช่น พับผ้า ล้างจาน เป็นต้น

หยุดเพิกเฉยเมื่อเห็นท่าไม่ดี

ถ้าลูกทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น รวมทั้งการทำลายข้าวของ อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ถ้าลูกทำเช่นนั้นให้หันกลับไปจับมือลูกแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที และมองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แล้วแกะของออกจากมือ จากนั้นปล่อยมือลูกและเฝ้าดูอีกสักครู่ หากลูกลุกขึ้นมาตีหรือโยนของอีกให้ทำซ้ำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด แล้วให้กลับไปเพิกเฉยต่อค่ะ

กลับไปหาลูกเมื่อสงบ

เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่กลับไปหาลูก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าไปหาลูกเพื่อตอกย้ำว่า ลูกจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อมีพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจ โดยควรพูดกับลูกว่า

อดทนไว้ก่อน

โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำเทคนิคเพิกเฉยในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงขึ้นและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง แต่ไม่ต้องตกใจ เข้าใจผิด คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกรู้สึกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ง่ายเหมือนเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองเขาแบบเดิม ขอให้อดทนไว้ก่อน อย่าใจอ่อนง่ายๆ เพราะครั้งต่อๆ ไป อาการของเขาจะเบาลงเรื่อยๆ

และนี่คือเทคนิครับมือลูกต่อต้าน ไม่ให้ดื้อรั้นกว่าที่เป็นอยู่ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้เลยค่ะ

ที่มา – samitivejhospitals