การเล่านิทานถือว่าเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่มักจะทำกับลูกยามว่าง โดยเฉพาะก่อนนอน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตัวเด็กเองแถมยังเป็นการใช้เวลาด้วยกันกับครอบครัว อีกทั้งยังสร้างความทรงจำดีๆ กับตัวเด็กๆ ในวัยยังซน และตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ผ่านการฟังนิทานตอนเด็กๆ กันมาอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญที่ทำให้นิทานที่ฟังดูสนุก และทำให้เด็กๆ ชอบก็มีอยู่มากมายหลายวิธี จะมีเทคนิคอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
วิธีเพิ่มความสนุกให้กับนิทาน
- เล่าอย่างมีลีลา : นั้นก็คือการใช้น้ำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ฟังแล้วให้เด็กๆ ได้มีอารมณ์เข้าร่วมกับตัวละครนั้นๆ ทำให้นิทานดูมีชีวิตชีวามากขึ้นยังไงละคะ
- ให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือ : ให้ลูกได้หยิบจับตั้งแต่เด็กๆ ยังเป็นทารก ให้เขารู้สึกดีกับการอ่านหนังสือ แต่ยังไงก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวหนังสือด้วยนะคะ
- ให้ลูกเลือกหนังสือที่ชอบ : ให้เด็กๆ ได้เลือกหนังสือเอง เป็นเรื่องสั้นๆ มีสีสันสดใส มีรูปน่ารักๆ พร้อมกับประโยคง่ายๆ
- สร้างบรรยากาศ : คงต้องเป็นสถานที่สบายๆ ไม่วุ่นวายเกินไป เพื่อให้เด็กๆ ได้มีจินตนาการตามเนื้อเรื่อง หรืออาจจัดสถานที่ให้ดูเหมือนว่าอยู่กับนิทานไปด้วยก็ได้นะคะคุณแม่ๆ
- ใกล้ชิดกับลูก : การอ่านนิทานคุณพ่อคุณแม่สามารถโอบกอดลูกไปด้วยพร้อมกับการเปิดหนังสือให้ลูกดูไปด้วย เด็กๆ จะได้มองตามนิ้วที่เราชี้ ทำให้เด็กๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับหนังสือเป็นอย่างดีอีกด้วย
- มีอุปกรณ์ประกอบ : เพื่อให้การเล่นสนุกยิ่งขึ้นอาจจะมีอุปกรณ์ตัวช่วย เช่น หุ่นมือรูปสัตว์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับนิทานที่คุณแม่เล่าให้เด็กๆ ฟัง จะทำให้นิทานดูสนุกยิ่งขึ้นเลยค่ะ
ลูกอายุเท่าไหร่ ควรจะเล่าแบบไหนดี
- เด็กอายุ 4-6 เดือน
คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กๆ ได้จับได้สัมผัสนิทานบ่อยๆ ควรเป็นกระดาษหนาและทนต่อการขยำของเจ้าเด็กน้อย อาจช่วยลูกถือหรือพลิกหนังสือทีละหน้า โดยออกเสียงสูงๆ ต่ำๆ เพื่อดึงความสนใจ เนื่องจากเด็กๆ ยังไม่เข้าใจเรื่องที่เราเล่าให้ฟัง อ่านบ่อยๆ และสร้างความคุ้นเคยและเคยชินในการจับหนังสือ และทำให้เด็กๆ รักการอ่านมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ
- เด็กอายุ 6-8 เดือน
อายุประมาณนี้เด็กๆ เริ่มทรงตัวได้แล้ว คุณหมอแนะนำว่าให้ลองนั่งตรงข้ามกัน เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สบตาลูก และจะได้สังเกตสายตาว่าลูกมองรูปอะไรอยู่ เพื่อให้การอ่านของเราจะได้ตอบสนองสิ่งที่ลูกเห็นได้นั้นเองค่ะ เน้นการโต้ตอบอย่างมีปฏิสัมพันธ์ คุณพ่อคุณแม่อ่านด้วยน้ำเสียงที่น่าสนใจ สูงๆ ต่ำๆ เช่นเดิม แต่สามารถเน้นคำสั้นๆ ที่เห็นชัดเจนได้ เช่น “ลูกหมูกำลังไปหาเพื่อน” เราก็ย้ำว่า “ลูกหมู” พร้อมกับชี้ไปที่ตัวหมู ซ้ำๆ 2-3 รอบ เน้นเสียงสูงต่ำด้วย เป็นการเล่นที่น่าสนุกสำหรับลูกยิ่งขึ้นนะคะ
- เด็กอายุ 8-12 เดือน
ถือว่าเป็นช่วงที่เด็กๆ ใช้มือเก่งและซนมากขึ้น ทำให้เด็กๆ สามารถพลิกหนังสือได้อย่างคล่องเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่สามารถดึงดูดลูกให้มีปฏิสัมพันธ์ตลอดการอ่านหนังสือได้ไม่ยากแล้วนะคะ ก็คล้ายๆ กับช่วงอายุที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีสิ่งที่เพิ่มมานั้นก็คือ เราสามารถพูดประโยคยาวๆ และต่อได้ 2-3 ประโยค ขึ้นกับว่าพื้นฐานของเด็กแน่นแค่ไหน และที่สำคัญ เราสามารถชวนลูกตอบคำถามได้แล้ว โดยตั้งคำถามง่ายๆ และเฉลยให้กับเขา จับนิ้วชี้ลูกเป็นตัวช่วยในการตอบ เช่น “ลิงอยู่ไหนน้า…” เว้นจังหวะ “ลิงอยู่นี่” พร้อมจับนิ้วลูกมาชี้แทน ทำซ้ำๆ บ่อยๆ ในระหว่างการเล่นนิทาน แต่อย่าลืมทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ เพื่อความสนุกด้วยนะคะ คราวนี้เด็กๆ ก็จะใช้นิ้วชี้เพื่อการสื่อสารกับเรื่องอื่นๆ ที่เขาต้องการได้แล้วนะคะคุณแม่ๆ
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
หากคุณพ่อคุณแม่ปูพื้นฐานแน่นพอแล้ว พ่อแม่ก็สามารถเล่าเป็นเรื่องตามที่มาได้ แต่ต้อง 1-3 บรรทัดต่อหน้านะคะ เพราะเด็กๆ ชอบฟังสั้นๆ มากกว่า มีบ้างที่เด็กจะฟังยาวๆ แต่มักจะเป็นเรื่องเดิมที่รู้แล้ว พอมีเล่มใหม่จะไม่ค่อยชอบฟัง นั้นเป็นเพราะเรื่องเดิมเขาได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เด็กๆ ก็จะชอบ หากมีเล่มใหม่แล้วลูกไม่สนใจ ให้สำรวจเลยว่าคุณพ่อคุณแม่เองที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับลูกตอนเล่าหรือเปล่า หรือนิทานอาจจะยาวเกินไปนั้นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอเสาวภา, planforkids, rakluke