“ลูกเอาแต่ใจ” อาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดจากช่วงอายุอย่างวัย 2 ขวบที่ถือเป็นช่วง ‘Terrible Two’ แต่ถ้าลูกเลยวัยช่วงนั้นมาแล้ว อาการเอาแต่ใจยังไม่หายไป ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้แก่คุณแพ่อคุณแม่ไม่น้อย วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับการที่ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ รวมไปถึงวิธีการแก้กันดีกว่าค่ะ
เด็กเอาแต่ใจเป็นยังไง ?
เด็กเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problems) คือ เด็กที่มีอารมณ์โกรธรุนแรงเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ มีพฤติกรรมการไม่ยอมทำตาม อาจได้รับการวินิจฉัยเกินจริงว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder – ADHD) และ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ได้
ลักษณะของเด็กเอาแต่ใจ
- มีอารมณ์โกรธที่รุนแรงมากๆ
- ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าความต้องการของตนเองสำคัญสุด
- ไม่ประนีประนอมและโต้เถียงอย่างไม่เลิกรา
- แสดงพฤติกรรมการกรีดร้องอาละวาด แม้จะเข้าวัยเรียนแล้ว
- ปฏิบัติกับผู้อื่นเหมือนเป็นสิ่งของ ไม่ใช่คน
- ไม่มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์
- ก้าวร้าว หยาบคาย
- มักบ่นว่าเบื่ออยู่เสมอ
ระดับความรุนแรงของเด็กเอาแต่ใจ
- ระดับร้ายแรง (Grandiose/malignant type) มีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง ไม่สามารถระงับได้ พยายามบีบบังคับให้คนอื่นทำตามที่ตนเองต้องการ คิดว่าตนเองสำคัญมากและอยู่เหนือคนอื่น จึงขาดความเห็นอกเห็นใจและมีแนวโน้มที่จะโทษคนอื่น
- ระดับเปราะบาง (Fragile type) มีความพยายามที่จะระงับความไม่พอใจ แต่จะรู้สึกวิตกกังวลและโดดเดี่ยว รวมถึงไขว่คว้าถึงความรู้สึกของการเป็นคนสำคัญหรือคนพิเศษ
- ระดับเรียกร้องความสนใจ (Exhibitionistic) เด็กจะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมาก แต่ระดับนี้อาจจะช่วยผลักดันให้เด็กมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น การพูดการเขียน การเข้าสังคม โดยอาจทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นและมีพลังงานมาก
สาเหตุของเด็กเอาแต่ใจ
จริงๆ แล้วไม่มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่พฤติกรรมโดยตรง แต่ต้องเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลต่อทัศนคติและการแสดงออกของเด็ก เช่น เป็นลูกคนเดียวเมื่อไปเข้าโรงเรียนก็ไม่พอใจที่ต้องแบ่งปันของให้คนอื่น หรือเป็นพี่คนโตที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับน้องมากกว่า จนสร้างพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ
- เด็กมีความพอใจในความรู้สึกที่ได้รับเพียงชั่วครู่จากการที่พ่อแม่หรือคนรอบข้างตามใจ
- ผู้ปกครองเป็นต้นแบบของความเอาแต่ใจ
- พ่อแม่ช่างเอาใจ (Permissive parents)
- ความรู้สึกว่าอยากโดดเด่นและแตกต่าง
- ความล้มเหลวของพ่อแม่ผู้ปกครองในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของลูก
วิธีการแก้ไขปัญหาเด็กเอาแต่ใจ
พ่อแม่ต้องช่วยเหลือให้เด็กเรียนรู้จากให้โดยไม่หวังผลตอบแทน การเสียสละโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และการให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก แสดงให้เห็นถึงความเสียสละ ความอดทน หรือการควบคุมตัวเอง
- ไม่ปกป้องลูกมากเกินไป ไม่อำนวยความสะดวกให้เกินความจำเป็น ลองให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง
- ไม่ควรชมลูกเกินควร เพราะลูกอาจทำบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจและคำชมเชย
- สอนให้ลูกมีความอดทน ลูกควรเรียนรู้ที่จะรอคอย เพื่อป้องกันตัวเองจากอารมณ์โกรธ
- พ่อแม่ไม่ควรใจอ่อนหรือยอมให้พฤติกรรมกรีดร้องอาละวาด (Temper tantrums) ของลูก
- จดจำไว้ว่า “การรักลูก” แตกต่างจาก “การตามใจลูก” โดยสิ้นเชิง
http://taamkru.com/th/ลูกเอาแต่ใจ/