คุณพ่อคุณแม่มีวิธีรับมือกันอย่างไรบ้างคะ เมื่อต้องพาลูกไปเดินห้าง แล้วลูกดันเกิดอาการงอแงอย่างหนักขึ้นมา อยากได้นู่นอยากได้นี่ไปเสียหมด เอาแต่ใจ ร้องกรี๊ดโวยวาย หนักสุดถึงขั้นทุ่มสุดตัวลลงไปนอนกับพื้น เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ วันนี้ Parents One มีวิธีการที่จะรับมือกับเจ้าลูกตัวแสบมาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. ใช้ความเงียบ สยบทุกความเคลื่นไหว
คุมอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ ไม่ลงไปโอ๋ลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้นะคะ อย่าทำให้ลูกเกิดความเคยชินว่า ถ้าเขาลงไปนอนดิ้นที่พื้นบ่อยๆ แล้วพ่อแม่จะยอมเขาทุกอย่าง เพราะลูกน้อยฉลาดกว่าที่เราคิดนะคะคุณพ่อคุณแม่
2. ไม่ดุลูกกลางที่สาธารณะ แต่ให้ใจเย็นๆ รอจังหวะให้ลูกมีสติ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ห้ามทำเด็ดขาดเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น นั่นก็คือ ไม่ดุว่าลูกกลางที่สาธารณะต่อหน้าคนเยอะๆ เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มรอยแผลเป็นในใจให้ลูกรู้สึกอับอาย จนเกิดเป็นอาการแพนิคขึ้นได้
แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ นั่นคือ ต้องใจเย็นๆ แม้ว่าลูกจะร้องจนแทบหมดสติก็ห้ามเข้าไปโอ๋เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นลูกจะติดเป็นนิสัยแล้วทำบ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่ถูกต้อง เราจึงควรรอให้ลูกมีสติก่อน แล้วจึงค่อยเข้าไปปลอบนั่นเอง
3. เข้าไปโอบกอด แล้วค่อยๆ คุยกับลูก
ในความเป็นจริง ลูกไม่ได้ต้องการอะไรจากคนเป็นพ่อเป็นแม่มากนัก เพียงแค่อยากถูกตามใจ เอาอกเอาใจ ให้ตัวเองรู้สึกเป็นที่รักเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหากเราจะเข้าไปโอบกอด แล้วค่อยๆ พูดเคลียปัญหาทางใจกับลูกว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
4. ทุกคนในครอบครัวต้องคุยกันให้เข้าใจ และปฏิบัติเหมือนกันหมด ไม่งั้นลูกจะสับสน
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การพูดให้คนในครอบครัวเข้าใจตรงกัน มีวิธีการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน เพื่อให้ลูกไม่เกิดความสับสนในการปฏิบัติตามคนใดคนหนึ่งของบ้าน และเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
5. กลับไปสอนลูกที่บ้านด้วยเหตุผลให้เขาเข้าใจ
การคุยกับลูกในห้าง ณ ขณะนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีมากนัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรกลับไปสอนลูกที่บ้านด้วยเหตุผลให้เขาได้เข้าใจจริงๆ มากกว่า และอย่าลืมถามลูกว่ารู้ไหมว่าลูกทำไม่ดีตรงไหน? เพื่อให้เขาได้เกิดความเข้าใจจริงๆ ว่าทำพฤติกรรมแบบนี้แล้วมันไม่ดีต่อตัวใครเลยนะ ถ้าอยากได้ของชิ้นนั้นจริงๆ ก็ต้องรู้จักเก็บหอมออมริบ เพื่อเก็บเงินซื้อเอง ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจมากกว่า
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเคล็ดลับที่เรานำมาบอกกัน หากคุณพ่อคุณแม่เจอสถานการณ์เเบบนี้ขึ้นกับตัวเองก็อย่าลืมนำมาปรับใช้กันด้วยนะคะ รับรองว่าลูกจะเกิดความเข้าใจความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่แน่นอนค่ะ