Parents One

ความกลัวมีผลอย่างไรกับเด็ก และควรเลี้ยงแบบไหนให้ไร้ความกลัว

 

ความกลัวอย่างไร้เหตุผลนี้มีผลกับพัฒนาการเด็กแน่นอน  ทั้งอารมณ์และจิตใจเลยก็ว่าได้ เมื่อเด็กได้รับความกลัวในแต่ละครั้งจะฝังใจมากกว่าผู้ใหญ่หลายร้อยเท่านัก แล้วความกลัวจะมีผลอย่างไรกับเด็ก และควรเลี้ยงอย่างไรให้ไร้ความกลัวดี มาดูกันเลยค่ะ

ความกลัวมีผลอย่างไรกับเด็ก

ตั้งสติก่อนคิดจะหลอกลูกให้กลัว

การหลอกลูกเพื่อให้ลูกเชื่อฟังนั้นไม่ใช่วิธีที่ทำได้ตลอดไป แถมส่งผลเสียมากกว่าที่คิดเสียด้วย ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่จะหลอกลูก ตั้งสติสักนิด ว่าต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลหรือว่า เป็นผู้ใหญ่ที่กลัวไปหมดทุกเรื่องค่ะ

รู้จักและควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

บางครั้งความกลัวนั้นเกิดจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าลูกรู้จักสิ่งต่างๆมากขึ้น ควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้มากขึ้นก็จะค่อยๆ หายกลัวไปเอง ลูกต้องการที่จะเอาชนะสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าลูกได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ มากและพ่อแม่คอยช่วยแนะนำอธิบาย ก็จะมีเหตุผลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไปเองค่ะ

อธิบายให้เข้าใจด้วยเหตุและผล

อธิบายในสิ่งที่คุณแม่ไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุและผล เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า รีบนอนได้แล้วเดี๋ยวผีมาหลอก ให้เปลี่ยนเป็น หนูควรรีบนอนได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา ถ้านอนดึก ลูกจะนอนไม่พอ พอเช้าก็ไม่อยากตื่น อารมณ์ไม่แจ่มใส ที่สำคัญจะทำให้ลูกไปโรงเรียนไม่ทันเวลา เป็นต้น จะทำให้ลูกดำเนินชีวิตด้วยเหตุและผลได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

เป็นแบบอย่างที่ดี

ลูกนั้นอยู่ในวัยแห่งการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิด การที่คุณแม่นั้นเป็นแบบอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้ลูกซึมซับเรื่องเหตุและผลมากขึ้น และไม่กลัวอะไรอย่างไร้เหตุผลได้ โดยการให้เหตุผลแก่ลูกว่า เหตุใดเราจึงควรกลัว หรือไม่ควรกลัวสิ่งต่างๆ เช่น ทำไมเราถึงสมควรกลัวงูมากกว่าผี นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่างูสามารถกัดทำร้ายเราจนถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผีนั้นเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ และถึงแม้ว่าพิสูจน์ได้ว่ามีจริงก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เขามาทำร้ายเรา เป็นต้น ดังนั้นการสอนลูกให้ใช้เหตุและผลให้ได้ผลดีนั้นคุณแม่จะต้องเป็นคนมีเหตุและผลด้วยค่ะ

เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

การเรียนรู้นี้จากประสบการณ์ของลูกโดยตรง เช่น เคยถูกสุนัขกัด ทำให้กลัวสุนัข เป็นต้น เมื่อลูกเกิดความกลัว ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไป คือ พยายามหนีสิ่งที่กลัวส่วนการเผชิญหน้าหรือกำจัดสิ่งที่กลัวนั้น ลูกไม่ค่อยจะทำ แต่ถ้าหนีทุกครั้งไป ก็ทำให้ขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการได้ ดังนั้นลองใช้ประสบการณ์ตรงในการสอนลูกว่าถ้าคิดจะหนีก็ต้องหนีตลลอดไป ลองค่อยๆ เผชิญหน้ากับความกลัวนั้นก็จะเอาชนะได้ไม่ยากเลยค่ะ

อธิบายเมื่อลูกเข้าใจผิด

หากคนในบ้านหลอกลูกให้กลัวอย่างไร้เหตุผล คุณแม่จำเป็นต้องอธิบายให้คนนั้นฟังว่าเหตุใดจึงไม่ควรหลอกลูกเช่นนั้น ที่สำคัญคือ ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่ลูกด้วย เช่น ที่คุณยายบอกว่า ไม่ให้หนูเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เพราะอาจถูกผีจับตัวไป ที่จริงแล้ว ไม่มีผีที่ไหนมาจับตัวลูกไปได้ แต่คุณยายพูดไปอย่างนั้น เป็นเพราะห่วง กลัวว่าลูกจะไปเล่นไกลหูไกลตาและหลงหายไปมากกว่า เป็นต้น จะทำให้ลูกเข้าใจความเป็นห่วงของคนในบ้านบ้านได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

นอกจากคุณแม่จะต้องปลูกฝังนิสัยให้ลูกค่อยๆ เลิกกลัวในสิ่งที่ไร้เหตุผลแล้ว ทุกคนในบ้านก็ควรจะลาขาดจากพฤติกรรมหลอกลูกให้กลัวไปได้ก็ยิ่งดี ลูกจะได้มีพัฒนาการที่ดี มีเหตุมีผล และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ค่ะ

ที่มา