เชื่อว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่นั้นคงกังวลใจว่าภาวะแท้งคุกคามคืออะไร สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีไหนบ้าง มาดูกันค่ะ
ภาวะแท้งคุกคามคืออะไร
แท้งคุกคาม (Threatened abortion, Threatened miscarriage) คือ ภาวะใกล้แท้งหรือภาวะที่เสี่ยงต่อการสิ้นสุดการตั้งครรภ์หรือแท้งลูกได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่คุณแม่จะมีเลือดออกมาจากช่องคลอดและอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ จึงอาจทำให้คุณแม่สับสนได้ว่าเป็นประจำเดือน
สาเหตุของภาวะแท้งคุกคาม
- คุณแม่ที่มีอายุมากจะมีโอกาสเกิดภาวะแท้งคุกคามมากกว่าคุณแม่ที่มีอายุน้อย
- คุณพ่อมีอายุมากเกินไป
- คุณแม่ที่เคยแท้งมาแล้วหนึ่งครั้งจะเกิดความเสี่ยงในการแท้งในครั้งต่อไป
- การได้รับอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์ที่บริเวณท้องน้อย
- ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน หรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างตัวอ่อนแต่กำเนิด
- ความผิดรูปร่างหรือความผิดปกติของมดลูก โพรงมดลูก ปากมดลูก
- ผลจากการขูดมดลูก (Asherman syndrome)
- คุณแม่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด หัดเยอรมัน ซีเอ็มวีไวรัส เป็นต้น
- การขาดฮอร์โมนเพศที่เป็นตัวช่วยประคับประคองการตั้งครรภ์ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาพอที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้
- โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเอสแอลอี โรคไทรอยด์ เป็นต้น
- คุณแม่มีความเครียด
- คุณแม่เป็นผู้สูบบุหรี่โดยตรงหรือเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง
- การดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากเกินไป
- การใช้สารเสพติดประเภทโคเคน (Cocaine) ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย
เมื่อไหร่ที่ควรรีบไปพบแพทย์
คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ส่วนมากจะมีความรู้สึกปวดหน่วง ๆ ในท้องน้อย แต่ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีเลือดออกจากช่องคลอดตลอดการตั้งครรภ์ ดังนั้นถ้าปวดในลักษณะบีบ ๆ บิด ๆ เป็นพัก ๆ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ก็ควรรีบไปพบแพทย์
คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่าแท้งแล้ว
ในกรณีที่มีเลือดออกมากและมีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วยแล้ว ก็มักจะลงเอยด้วยการแท้งจริง ๆ ดังนั้นหากเริ่มมีเลือดออกก็ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดในทันที
วิธีป้องกันการแท้งคุกคาม
มีทั้งสาเหตุที่สามารถป้องกันได้และสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้
สาเหตุที่สามารถป้องกันได้
- รักษาและควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้วให้ดี
- ถ้าโพรงมดลูกมีความผิดปกติ ควรแก้ไขหรือผ่าตัดให้เรียบร้อยก่อนการตั้งครรภ์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงหลีกเลี่ยงความเครียด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ในทุก ๆ วัน
- งดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มแอลกฮอล์ทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่าง ๆ (รวมถึงยารักษาสิว) โดยไม่จำเป็น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ
- ไม่ยกของหนักในช่วงตั้งครรภ์
- ระมัดระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ การกระทบกระแทกแรง ๆ ฯลฯ
- ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์และฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์
สาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้
- โครโมโซมของทารกที่ผิดปกติ
- ระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่มีความผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกบาง มดลูกไม่แข็งแรง
- การเกิดโรคประจำตัวของคุณแม่เอง
เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งท้องแล้ว ควรจะดูแลตัวเองให้ดีเป็นพิเศษและฝากท้องกับคุณหมออย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นอะไรไปจะแก้ได้ทันท่วงทีค่ะ
ที่มา – medthai