โรคระบาดในเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยดีและคงได้ยินกันมามากมายหลายโรคนะคะ และก็ยังมีอีกหลายโรคที่คุณพ่อคุณแม่เองก็ยังไม่คุ้นเคย อย่างวันนี้ที่ Parents One จะพาไปทำความรู้จัก นั่นคือ “โรคเฮอร์แปงไจน่า” ซึ่งเป็นโรคระบาดในเด็กอีกโรคหนึ่งที่ไม่ค่อยคุ้นหูแต่ก็เป็นโรคที่พบบ่อยมากและส่งผลต่อสุขภาพเด็กๆ ได้ด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
โรคเฮอร์แปงไจน่าคืออะไร
โรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และอุจจาระ เรียกได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับ มือ เท้า ปาก นั่นเอง แต่โรคนี้จะเกิดเป็นแผลเฉพาะที่ “ปาก” เท่านั้นค่ะ
กลุ่มเสี่ยง
เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาล ที่มักเล่นของเล่นร่วมกัน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายค่ะ
ติดต่อได้อย่างไร
โรคนี้มักจะระบาดในอากาศชื้นหรือฤดูฝน และติดต่อจากการสัมผัสแล้วนำมือเข้าปาก จึงทำให้ติดต่อเชื้อได้
- สัมผัสน้ำมูก
- สัมผัสน้ำลาย
- อุจจาระของคนที่ติดเชื้อ
เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 3 – 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรคนั่นเองค่ะ
สังเกตอาการ
หลังจากติดเชื้อประมาณ 2 วัน ผู้ป่วยอาจมีตุ่มแดง หรือแผลเปื่อยขอบสีแดงบริเวณเพดานปากและลำคอ แต่อาจหายได้เองใน 7 วัน ทั้งนี้ บางรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป เช่น
- มีไข้สูงกว่า 38.5-40 องศาเซลเซียส
- เจ็บคอขณะกลืนอาหาร
- ปวดหัว ปวดคอ
- ต่อมน้ำเหลืองในคอบวมโต
- น้ำลายไหลยืด (เด็กทารก)
- อาเจียน (เด็กทารก)
- ปวดท้อง
- เบื่ออาหาร
อาการแบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์
- เจ็บคอ หรือมีแผลในปากนานเกิน 5 วัน
- มีไข้สูงเกิน 41 องศาเซลเซียส และไม่ลดลง
- มีอาการภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม เป็นต้น
- มีอาการป่วยอื่นๆ เพิ่มเข้ามา
การรักษา
เป็นโรคที่ต้องรักษาตามอาการ ขึ้นอยู่กับอายุ อาการผู้ป่วย การทนต่อยา ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำวิธีการรักษาดังนี้
- รักษาด้วยยา : กินยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อลดอาการปวดไข้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินรักษาในเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดสำหรับช่องปากและลำคอ เช่น ยาลิโดเคน
- การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม : ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะนมเย็น น้ำเย็น หรือกินไอศกรีม เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย ทดแทนของเหลวที่เสียไปจากการมีไข้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มร้อน และผลไม้ตระกูลส้ม เพราะอาจทำให้เจ็บแผลในปากและคอมากขึ้น
การป้องกัน
วิธีที่ดีทีสุดก็คือการรักษาความสะอาดของตัวเองนะคะ เช่น การล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และต้องระมัดระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นส่วนรวม หากเด็กๆ มีอาการป่วยควรงดไปโรงเรียน 7 วันค่ะ
อ้างอิงจาก : rama.mahidol, phyathai, pobpad, nakornthon.com