การฝึกให้ลูกกินข้าวเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองและรับผิดชอบพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งเราสามารถให้ลูกฝึกกินข้าวเองได้ตั้งแต่ 1 ขวบแรกเลยค่ะ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกยากลำบากเหลือเกิน เพราะลูกร้องไห้ ไม่ยอมกินข้าว แต่เราต้องแข็งใจไว้นะคะ เพราะถ้าฝึกให้ลูกกินข้าวเองได้ พัฒนาการด้านต่างๆ ของเขาจะตามมาอีกมากมายเลย วันนี้เราจึงมีเทคนิคในการฝึกให้ลูกกินข้าวเองมาฝากค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- Facebook Page : Baby Led Weaning Thailand
- นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
- konthong.com
- amarinbabyandkids.com
- rakluke.com/
เลิกป้อนข้าวลูก
ถ้าอยากให้ลูกกินข้าวเองได้ต้องเลิกป้อนข้าวลูกเป็นอย่างแรกค่ะ ลูกอายุ 1 ขวบเป็นต้นไปก็ควรที่จะกินข้าวได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกมี EF (Executive Function) และเป็นการทำให้ลูกรับผิดชอบชีวิตส่วนตัวของตัวเองได้

กินเป็นเวลา กำหนดเวลา ไม่กินก็เก็บ
เราควรฝึกให้ลูกกินเป็นเวลา ข้าวเช้า เที่ยง เย็นกินอย่างเป็นเวลาที่แน่ชัดตายตัว เพื่อที่ลูกจะได้รู้ว่าตอนนี้เป็นเวลากิน เขาต้องกิน อีกทั้งควรที่จะกำหนดเวลาในมื้อนั้นๆ ไม่ควรเกิน 30 นาที เมื่อเกินเวลาถ้าลูกไม่กินก็เก็บ ไม่ต้องโมโหนะคะ และรอให้ถึงมื้อหน้า อย่าให้ขนมระหว่างมื้อเพราะลูกจะจดจำว่าไม่ต้องกินมื้อหลักก็ได้ ยังไงก็มีขนมให้กิน

ปล่อยให้เลอะเทอะ
ลองปล่อยให้ลูกนั่งบนเก้าอี้ วางข้าว ช้อน ส้อมไว้ให้เขา แล้วให้เขาลองหยิบจับทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะทำหก จะกินไม่เข้าปาก จะเทอาหารลงบนพื้น เพราะในช่วงแรกแน่นอนว่าเขายังไม่ชิน ยังไม่สามารถบังคับทิศทางต่างๆ ได้ดี การปล่อยให้ลูกเรียนรู้ผ่านความเลอะเทอะอาจจะช่วยให้เขาทำได้ดีขึ้นในครั้งหน้า โดยที่เราก็คอยบอกและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ต้องนั่งกินที่โต๊ะเท่านั้น
ให้ลูกนั่งกินอย่างเป็นที่เป็นทาง จะทำให้เขาจดจ่อกับการกินที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่วิ่งไปวิ่งมาเพื่อที่จะมากินข้าว หรือไปเล่นของเล่น รวมไปถึงระหว่างกินข้าวไม่ควรให้ลูกดูโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือ เพราะจะทำให้ลูกสนใจแต่จอ ไม่ยอมกินข้าว

ใช้ถ้วยที่มีสันสันสดใส ให้ลูกเลือกจาน ชาม ช้อนด้วยตัวเอง
เด็กๆ ชอบอะไรที่มีสีสันสดใส การเลือกจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำที่มีลวดลายน่ารัก สีสันโดดเด่นจะช่วยจูงใจให้ลูกสนใจอาหารที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น หรืออาจจะให้เขาเลือกชามใบเก่งด้วยตัวเอง รวมไปถึงควรเลือกอุปกรณ์ที่มีขนาดเหมาะสมค่ะ

กินแบบเดียวกับทุกคน
ให้ลูกกินข้าวเหมือนกับคนในครอบครัว ไม่ต้องทำอาหารสำหรับเขาเป็นพิเศษ ให้วางเมนูอาหารสำหรับคนในครอบครัวเป็นหลัก ถึงแม้ว่าเด็กในวัย 1-5 ขวบจะมีภาวะเลือกกิน (Picky eater) ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของลูก แต่เราไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริมให้เป็นนิสัย

กินอาหารพร้อมกัน
เวลากินให้กินข้าวพร้อมกัน ไม่ต้องนั่งรอหรือจ้องเวลาลูกกิน เพราะลูกต้องการแบบอย่างในการเคี้ยว ในการกลืน ในการตักอาหาร เพราะพวกเขาคือนักเลียนแบบ การนั่งทานข้าวพร้อมกับลูกจะทำให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น

พ่อแม่ต้องใจเย็น สบายๆ ไม่กดดันลูก
เวลากินข้าวคือช่วงเวลาแห่งความสุข อย่าให้ลูกกินข้าวเคล้าน้ำตา บังคับขู่เข็ญว่าให้กิน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้านและไม่อยากกินอาหารด้วยตัวเอง ควรฝึกลูกแบบสบายๆ ไม่ต้องไปกดดัน ทำทุกอย่างด้วยรอยยิ้ม

ชมเมื่อลูกทำได้
ไม่ว่าลูกจะกินหก เลอะเทอะ ตักข้าวลงพื้นมากกว่าเข้าปากก็ชมลูกเถอะค่ะ ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่กำลังพยายามนั้นมีความหมาย และเมื่อลูกทำได้จริงๆ ก็ขอให้ชมแบบเล่นใหญเข้าไว้ ในไม่นานลูกก็จะกินข้าวได้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิงจาก