เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคสมัยนี้ คงหนักใจไม่น้อยกับปัญหาลูกรัก “ติดจอ” ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต ไอแพด ไอโฟน จริงๆ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แม้แต่เด็กอายุ 1 ขวบบางคนก็นั่งดูแท็บเล็ตกันแล้ว แม้การที่ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต หรือเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จะมีข้อดีในการให้ความรู้และความบันเทิงแก่ลูก แต่ถ้ามากเกินไปก็เป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อลูกได้
ผลเสียเมื่อลูกมีอาการติดจอ
- ร่างกายไม่พัฒนาตามวัย เพราะลูกนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ขยับ ร่างกายเด็กจะไม่แข็งแรง ไม่คล่องแคล่ว ป่วยง่าย ป่วยบ่อย
- ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะหน้าจอที่ลูกดู เคลื่อนไหวรวดเร็วตามที่ต้องการ ทำให้ลูกไม่รู้จักอดทนและรอคอยไม่เป็น
- เข้าสังคมยาก เพราะไม่ค่อยได้เล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้ขาดการปรับตัวเมื่อต้องเข้าสู่สังคม
วิธีแก้เมื่อลูกติดจอ
1. ชวนลูกทำกิจกรรมอื่น เราต้องชักจูงลูกไปทำอย่างอื่น จะที่บ้านหรือออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านก็ได้ เช่น การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายอย่างว่ายน้ำ ชวนลูกให้อาหารปลา เล่นกับสัตว์เลี้ยง รดน้ำต้นไม้ ทำอาหาร เป็นต้น
2. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เราไม่สามารถบอกให้ลูกหยุดเสพเทคโนโลยีต่างๆ ได้หากตัวเราเองยังคงดูไอแพดจนดึกดื่น ส่งข้อความในขณะขับรถหรือมีมือถือไว้ข้างตัวขณะทานอาหาร จิตแพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หากเราลดปริมาณการดูหนังลง เด็กๆ จะมีพฤติกรรมการติดหนังลดลงด้วย เราต้องมีวินัยกับตัวเองก่อน เพราะหากใช้เทคโนโลยีมากเกินไป นอกจากจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูกแล้ว ยังส่งผลให้เวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยลงด้วย
3. กำหนดเวลา เด็กที่อายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมพัฒนาการเด็กได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยต้องใช้ร่วมกับพ่อแม่ และจำกัดเวลาการให้เพียงวันละไม่เกิน 30 นาที ซึ่งถือว่าใช้เวลามากแล้วสำหรับเด็ก
4. ซื้อหนังสือเล่มโปรด ลองซื้อหนังสือที่คิดว่าลูกจะสนใจ เช่น หนังสือเกี่ยวกับสัตว์ มีตัวการ์ตูนที่น่ารัก มีภาพและสีที่สวยงาม น่าสนใจ เลือกแบบหนาๆ หลายๆ หน้า จะได้อ่านจนลูกหลับได้ พอลูกร้องอยากจะดูไอแพด เราสามารถจะเอาหนังสือมาเปิดอ่าน ชี้ภาพให้เค้าดูทีละหน้าแทน โดยอ่านให้มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ เล็กๆ ใหญ่ๆ ทำให้น่าสนุก ตื่นเต้นเข้าไว้ ลูกก็เลือกดูหนังสือแทนไอแพดได้เองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก – แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต