คุณแม่คงหนักใจไม่น้อยเมื่อเห็นลูกเริ่มโกหก ไม่พูดความจริงขึ้นมา ยิ่งถ้าติดเป็นนิสัยไปแล้วจะยิ่งแก้ยากเข้าไปใหญ่ ทางที่ดีคุณแม่ควรจับสังเกตเมื่อลูกเริ่มโกหกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้แก้ปัญหาได้ทันค่ะ จะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
เป็นสิ่งที่จินตนาการเอง
ในเด็กช่วงอายุ 2-6 ปี อาจมีการพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรคือจินตนาการ เช่น คิดว่าเหาะได้ คิดว่าเป็นคนอื่น เป็นต้น ในกรณีนี้คุณแม่อาจจะค่อยๆ สอนไปตามสิ่งที่ลูกเล่าก็ได้ค่ะ
รู้สึกกลัวเมื่อทำผิด
ลูกอาจโกหกเพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือกลัวว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด เช่น ลูกขโมยเงินพ่อแม่เพื่อเอาไปซื้อของเล่นยอดฮิตเหมือนเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนแต่กลัวพ่อแม่จับได้เลยต้องโกหก การตำหนิ หรือลงโทษลูก แทนที่พฤติกรรมโกหกจะหายไป กลับยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งถูกตำหนิยิ่งทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกยิ่งแย่ลง เพราะลูกจะยิ่งอยู่ห่างจากครอบครัวมากขึ้นค่ะ
กำลังอยากได้อะไรบางอย่าง
บางทีลูกอาจโกหกเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น สร้างเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จะได้สนใจตนมากขึ้น โกหกว่าปวดหัวเพราะไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจเล่าเรื่องโกหกให้ตัวเองดูดี เพราะอยากให้พ่อแม่ชื่นชมก็เป็นได้ค่ะ
เริ่มมีปัญหาทางอารมณ์
เด็กบางคนอาจมีความผิดปกติทางด้านจิตเวช เช่น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญาบกพร่อง มีปัญหาด้านภาษา เด็กที่ป่วยเป็นโรคจิต บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะพูดเรื่องที่ไม่จริงตามความคิดที่เกิดขึ้นในโลกส่วนตัวจากการที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่ หรือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์เช่น โรคซึมเศร้า อาจจะไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ แต่มาแสดงออกทางพฤติกรรมเช่น พูดโกหก หนีเรียน ลักขโมย เป็นต้น
ปิดบังเรื่องส่วนตัว
บางครั้งที่ลูกโกหกอาจจะจงใจที่จะไม่พูดความจริงก็เป็นได้ พยายามปิดบังอำพรางเรื่องบางอย่างที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ จนทำให้ลูกเริ่มคุยกับพ่อแม่น้อยลงตามไปด้วยค่ะ
กลัวถูกตำหนิมากขึ้น
ลูกไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวจะถูกตำหนิติเตียน จนรู้สึกถูกลดคุณค่าและความภาคภูมิใจของลูกไปเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเคยพูดความจริงไปแล้วโดนตำหนิมากจนฝังใจก็เป็นได้ค่ะ
โกหกจนเป็นนิสัย
ในบางครั้งลูกอาจโกหกจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว โกหกจนไม่รู้สึกผิดใด ๆ ไม่ว่าโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็เป็นได้
เมื่อคุณแม่เริ่มจับโกหกลูกได้แล้ว ควรรีบหาทางแก้ด้วยการสร้างความไว้วางใจให้กับลูก ไม่ตำหนิหรือดุด่าลูกเมื่อลูกทำความผิด ไม่จับผิดลูกมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ และลองพยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกโกหกน้อยลงจนสบายใจที่จะพูดความจริงทั้งหมดแล้วล่ะค่ะ
ที่มา