เมื่อลูกของเราเริ่มเข้าสู่วัย 1 – 3 ปี คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า เด็กๆ มักจะมีนิสัยโมโหร้าย ชอบขว้างของ เอาแต่ใจตัวเองกันแบบสุดๆ จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็จะกังวัลใจว่าเหตุใดลูกเราถึงเป็นเด็กโมโหร้ายแบบนี้
วันนี้ทาง Parentsone มีวิธีแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองอ่านดูกัน เหตุใดทำไมลูกสุดน่ารักของเราจึงกลายเป็นเด็กโมโหร้าย มีวิธีรับมืออย่างไรไปดูกันเลยค่ะ
อารมณ์โกรธของเด็กๆ มักจะแสดงให้เราเห็นก็ต่อเมื่อ เขาไม่ชอบใจหรือถูกขัดขวางไม่ให้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็มีอาการโกรธที่แตกต่างกันไป
ต้นเหตุความรุนแรง
สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1.สาเหตุภายในครอบครัว ได้แก่
- พ่อแม่อายุน้อยขาดความอดทนต่อเด็ก
- ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น
- มีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ
- ขาดความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก
- มีปัญหาจิตเวช หวาดระแวง ซึมเศร้า
- มีความกดดันและเครียดเกี่ยวกับลูกที่ต้องดูแลตลอดเวลาและไม่ได้พักผ่อน
- ตั้งความหวังกับเด็กสูงเกินไป
- ไม่ต้องการเลี้ยงดูลูก
2.สาเหตุจากตัวเด็ก ได้แก่
- พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก
- ความซน
- จิตวิทยาและพัฒนาการไม่สมวัย
3.สาเหตุจากสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และภาวะวิกฤติ ได้แก่
- ความยากจน
- สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
- อุปสรรคทางสังคมและเศรษฐกิจนมาซึ่งการใช้กำลังในครอบครัว
- ผลกระทบจากความตึงเครียด
- วิกฤติภายในครอบครัว
- ครอบครัวอยู่ในชุมชนที่มีการช่วยเหลือทางสังคมที่ต่ำ
4.สาเหตุจากการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสมในวัยก่อนเรียน ทำให้เกิดความกดดันทางอารมณ์ เช่น
- การเร่งรัดให้เด็กเรียนมากเกินไปไม่สมวัย
Checklist อาการโมโหที่ไม่ธรรมดาของลูก
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตดีๆ ก็จะสามารถสังเกตอาการโกรธที่น่าเป็นห่วงของลูกเบื้องต้นได้ดังนี้
- หยิก
- ดึงผม
- ฉุดกระชาก
- ไม่ฟังใคร
- ปาข้าวของ
- โมโห อาละวาด
- ชักดิ้นชักงอ
- ร้องไห้นานเป็นชั่วโมง
- ตบหน้าพ่อแม่ หรือทำร้ายคนเลี้ยงดู เช่น พี่เลี้ยง
- ทุบตี หรือทำร้ายเพื่อนที่โรงเรียนและผู้อื่น
รับมือเมื่อลูกโกรธได้อย่างไร ?
เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.เด็กโกรธแบบรับมือได้ คือ คุณพ่อคุณแม่สามารถประคับประคองหรือปลอบลูกได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนวิธีจัดการความโกรธได้ดังนี้
- พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก : เมื่อเรารู้สึกโกรธให้นิ่งหรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายก่อน แล้วค่อยๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยเหตุผล ทำเช่นนี้ให้ลูกเห็นเป็นประจำ เด็กๆ ก็จะซึมซับตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่ได้ แล้วจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี
- ปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเอง แล้วค่อยอธิบายภายหลัง : หากลูกมีความโกรธที่ไม่รุนแรง อย่างเช่น หน้าบึ้ง ร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ลองปล่อยให้ลูกได้อยู่กับตัวเองจนใจเย็นลง แล้วค่อยไปถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่า และเราก็เป็นคนรับฟัง โดยไม่ตำหนิ แต่ควรบอกให้เขาเห็นว่าอะไรคือผลที่ตามมาหากกระทำเช่นนั้น
- เข้าใจความโกรธของลูก : เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโกรธ แต่เมื่อโกรธแล้วเขาต้องรู้วิธีที่จะสงบสติอารมณ์ของตนเองลงให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก และเปิดโอกาสให้เขาได้หัดคิดและเรียนรู้ โดยมีเราที่เป็นพ่อแม่คอยช่วยประคับประคองนั้นเองค่ะ
- แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความรุนแรงในสังคม : ตามสื่อต่างๆ ทั้งข่าว ละคร มักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงปรากฏขึ้น ซึ่งพ่อแม่ควรอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง และเราก็ต้องฟังความคิดเห็นของเด็กเพื่อแนะนำอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกันค่ะ
2.เด็กโกรธรุนแรงแบบรับมือไม่ได้ คือ เด็กที่โกรธแล้วทำร้ายพ่อแม่หรือคนรอบข้าง เช่นกัดและหยิกจนเป็นแผล เป็นต้น จนเราไม่สามารถรับมือกับความโกรธนี้ได้ วิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือ ควรปรึษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นผู้ช่วยชาญ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งประกอบด้วย
- ซักประวัติ ตรวจความปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครอง หากสิ่งแวดล้อมโดยรอบมีความสงบเป็นปกติ แต่ลูกยังมีความรุนแรงผิดปกติ เราต้องรีบพิจารณาโรคภัยไข้เจ็บของเด็ก เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
- ปรับเปลี่ยนร่วมกับสมาชิกในครอบครัว โดยการรู้จุดแข็ง จุดอ่อน จุดเปราะบางของเด็ก และพร้อมเปิดใจที่จะปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รับประทานยา หากอาการที่เกิดจากความโกรธของเด็กยังไม่ดีขึ้นอีก การทานยาก็สามารถช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้น 70 -80% ยกเว้นพ่อแม่มีอารมณ์และพฤติกรรมที่ส่งผลให้เด็กขาดกำลังใจ ผลของยาก็เหลือเพียง 30 – 40% เท่านั้นค่ะ
รู้อย่างงี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็รู้วิธีการรับมือกับความโกรธของลูกแล้วใช่ไหมคะ สิ่งสำคัญที่สุดข้อหนึ่งเลยก็คือหากลูกกำลังโกรธ เราไม่ควรตี หรือดุเขาซ้ำ เป็นมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้เลย แถมยังทำให้ลูกมีความโกรธมากขึ้นไปอีก และอีกข้อเลยก็คือ หากยอมตามใจลูกไปซะทุกเรื่อง เพราะนั้นแหละค่ะ จำทให้เขายิ่งทำต่อไปเรื่อยๆ จนเมื่อมีคนใดคนหนึ่งมาขัดใจ สุดท้ายเขาก็จะติดสัยโกรธ ขี้โมโห ติดไปจนกลายเป็นเด็กโมโหร้ายต่อไปค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.ชลภัฏ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ , Rakluke