น้ำนมแม่ถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารที่ครบถ้วน ทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมบูรณ์ สำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้วต้องปั๊มนมเก็บไว้ วันนี้เราจะมาบอกวิธีการเก็บรักษาน้ำนม ซึ่งจะเก็บได้นานแค่ไหนแล้วเก็บอย่างไรให้คงคุณประโยชน์ไว้ไปดูกันเลยค่ะ
วิธีเก็บน้ำนมแม่ที่ง่ายที่สุดและสะดวกมั่นใจที่สุดคือ การเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับช่องธรรมดาที่ไม่มีของอื่นปน จะเก็บได้ราว 5 วัน ถ้าเก็บในช่องธรรมดาแต่มีของอื่นปนด้วยจะเก็บได้ 2-3 วัน เก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าบ้านไหนมีตู้เย็นแบบประตูช่องแช่แข็งแยกจากประตูใหญ่ การเก็บไว้ในช่องแช่แข็งโดยไม่ปนกับอาหารอื่นจะเก็บได้นานถึง 3 เดือน ถ้ามีอาหารอื่นปน จะเก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน กรณีที่ไม่มีตู้เย็น คุณแม่มือใหม่สามารถเก็บน้ำนมไว้ในกระติกน้ำแข็งแทนได้ค่ะ
ข้อแนะนำในการเก็บรักษาน้ำนมแม่ในตู้เย็น
1. ภาชนะทุกชนิดที่นำมาใช้ควรผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง แนะนำให้ใช้ถุงเก็บนมโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะทำให้นมแข็งเร็วแล้ว การละลายยังทำได้ง่ายและรวดเร็วอีกด้วย แต่สำหรับภาชนะที่เป็นแก้วนั้น เราไม่แนะนำนะคะ นั่นเพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแม่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการติดเชื้อ อาจจะติดอยู่กับแก้วที่ใช้เป็นภาชนะได้
2. ติดฉลากที่ข้างถุงเก็บน้ำนมแม่ทุกครั้ง โดยกำกับด้วยว่า นมปั๊มวันที่เท่าไหร่ เวลาอะไร เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้ และคุณแม่จะได้รู้ว่าถุงไหนปั๊มก่อน และถุงไหนปั๊มทีหลัง เพื่อให้การเก็บรักษานมเป็นไปตามระบบนั่นเอง
3. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการปั๊มน้ำนม อุปกรณ์ทุกอย่างที่นำมาใช้ต้องสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันแบคทีเรียที่อาจจะปนเปื้อนในน้ำนมแม่ได้
4. หากคุณแม่ต้องการแช่แข็งน้ำนมที่ปั๊ม ควรทำทันทีหลังจากที่ปั๊มเสร็จ และไม่ควรปั๊มจนเต็มถุง ควรเหลือที่ว่างเอาไว้ด้วย เพราะเมื่อแช่แข็งแล้ว น้ำนมจะขยายตัวขึ้น อาจทำให้หกเลอะเทอะได้
ข้อแนะนำในการนำน้ำนมที่แช่ตู้เย็นมาใช้
- น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ หากต้องการนำมาใช้ให้ทำการละลายด้วยการนำมาแช่ในตู้เย็นปกติประมาณ 12 ช.ม. หลังจากนั้นจึงนำมาแช่ในน้ำอุ่นก่อนนำมาให้ลูกกิน ไม่ควรนำไปอุ่นด้วยการนำเข้าไมโครเวฟ หรือละลายในน้ำร้อนจัด เพราะจะเป็นการทำลายเซลล์ที่มีชีวิตที่อยู่ในน้ำนมแม่
- ไม่ควรปล่อยให้นมแช่แข็งละลายเองที่อุณหภูมิห้อง ถ้าลืมและต้องการให้ละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาให้เป็นอุณหภูมิปกติ แล้วเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่น
- น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้เมื่อละลายแล้ว ยังสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ช.ม.
- ไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่
- ถ้าต้องการใช้นมภายใน 8 วันหลังจากปั๊ม ไม่ต้องแช่แข็งให้แช่ตู้เย็นช่องปกติ ถ้าต้องการแช่แข็ง ให้แช่แข็งภายใน 24-48 ช.ม. หลังจากปั๊มออกมา (ยิ่งแช่แข็งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น)
- น้ำนมแม่ที่ละลายแล้ว หากลืมวางไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกิน 1 ชั่วโมง ให้ทิ้งไป ไม่ควรเก็บไว้กินต่อ
- น้ำนมแม่ที่ละลายแล้วหากมีกลิ่นหืนยังถือว่าปกติอยู่ ยังไม่เสีย แต่ถ้าหากมีกลิ่นรุนแรง มีรสเปรี้ยว แสดงว่าน้ำนมนั้นเสียแล้ว ไม่ควรนำมาใช้อีก
จากข้อมูลนี้คุณแม่คงเห็นแล้วว่า หากต้องการเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้ได้นานๆ ควรแช่ช่องแข็งโดยไม่มีอาหารอื่นปะปน แต่ถ้าจะให้ดี แนะนำให้เก็บน้ำนมไว้สูงสุดเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น เพราะน้ำนมแม่จะถูกผลิตขึ้นมาใหม่ในทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่า เพียงพอกับความต้องการของลูกน้อยอยู่แล้ว ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรเก็บน้ำนมไว้นานๆ หากเป็นไปได้แนะนำให้เก็บเผื่อไว้ 1-2 วันก็เพียงพอค่ะ