เมื่อลูกน้อยทั้งสองคนเริ่มอยู่ในวัยที่พูดได้แล้ว เล่นได้อย่างสนุกสนานแล้ว อาจเกิดเหตุการณ์ทะเลาะกัน เถียงกัน ตีกันได้ คุณแม่รับมืออย่างไรได้บ้างเมื่อเกิดการปะทะกัน มาดูกันเลยค่ะ
ไม่ควรเข้าไปตัดสินเด็ก
การเข้าไปตัดสินเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการเข้าไปบอกว่า ลูกคนนี้ผิด คนนั้นถูก คุณแม่จะกลายเป็นคนที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กทันที และยิ่งจะเพิ่มความร้อนแรงให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกอิจฉา หรือชิงดีชิงเด่นกัน วิธีแก้คือ ให้เขาจัดการกันเองค่ะ ไม่ต้องไปสนใจว่า ใครทำใครก่อน ใครหยิบของเล่นชิ้นนี้มาก่อน ไม่ต้องสนใจค่ะ มันคือธรรมชาติของเด็ก ยิ่งคุณแม่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเข้าไปตัดสินเลย ถ้าคุณแม่เข้าไปตัดสิน ก็จะยิ่งเข้าไปสร้างนิสัยการแก้ตัวให้แก่เด็ก
ให้ลูกเลือกของเล่นด้วยตัวเอง
อีกหนึ่งวิธีช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง โดยเฉพาะปัญหาการแย่งของเล่น คือ ควรให้ลูกแต่ละคนเป็นคนเลือกของเล่นด้วยตัวเอง คุณพ่้อคุณแม่ไม่ควรเลือกซื้อมาให้เหมือนๆ กัน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาแย่งของเล่นเกิดขึ้นได้ แต่การมีของเล่นต่างชิ้นกัน ถ้าเกิดปัญหาแย่งของเล่น สามารถใช้วิธีแลกกันเล่นได้
พุ่งความสนใจไปยังคนที่ถูกกระทำก่อน
สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำ คือ ควรพุ่งความสนใจไปยังคนที่ถูกกระทำก่อน ซึ่งการให้ความสนใจกับฝ่ายที่ถูกกระทำ และพยายามพูดคุยด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ทำให้ลูกอีกคนเรียนรู้ว่า ถ้าตีน้องหรือพี่ เขาจะไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ จากนั้นเมื่อลูกอารมณ์เย็นขึ้น ค่อยสอนต่อไป ว่า “ทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ หนูมีสิทธิ์โมโหได้ แต่โมโหแล้ว เราต้องไม่ทำแบบนี้ค่ะ ครั้งหน้าถ้าหนูโมโห ขอให้เดินมาหาแม่ เดี๋ยวแม่เล่นกับหนูให้หายโมโหเอง แต่ถ้าโมโหแล้วทำแบบนี้ บ้านเราไม่ทำนะคะ”
ให้ความสนใจพวกเขาตอนที่เป็นเด็กดี
เด็กที่รู้สึกถึงความรัก การดูแล และความเอาใจใส่ที่เพียงพอจากคุณแม่นั้นมักจะทะเลาะกันน้อยกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในรถหรืออยู่ที่บ้าน คุณก็ควรให้ความสนใจพวกเขาอยู่เสมอ หากคุณมีลูกมากกว่าหนึ่งคน คุณควรเป็นหนึ่งใน “แก๊งค์” ของพวกเขา และแบ่งเวลาเพื่อเล่นเป็นเพื่อนลูกโดยไม่ได้ทำตัวเป็นแม่สักพัก และมันอาจจะดีกว่าด้วยหากคุณสามารถที่จะให้เวลาและความใส่ใจกับลูกแต่ละคน บอกรักเขาเสมอ กอดเขาให้มากเท่าที่คุณมีโอกาส
สอนให้ลูกสื่อสารได้อย่างเหมาะสม
จงจำไว้ว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นจากขาดการสื่อสารที่เหมาะสม หรือขาดการสื่อสารกัน การสื่อสารกันได้อย่างเหมาะสมเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ดี แม้กระทั่งในหมู่เด็กด้วยกัน เขาจะแสดงความเป็นตัวเขาเอง เด็กสามารถโน้มน้าวและชักจูงพี่หรือน้องให้ออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งได้ การที่เขาไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้จะทำให้เขาเกิดความหงุดหงิดและทะเลาะกับคนอื่นได้ค่ะ
สอนให้เด็กรู้จักเห็นใจคนอื่น
เมื่อสอนให้ลูกรู้วิธีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นแล้ว จะทำให้ลูกสามารถที่จะปลอบใจคนอื่นได้ นั่นแสดงว่าเขาสามารถหยุดคิดทบทวนได้เมื่อเขารู้สึกว่าอยากจะทำร้ายหรือทะเลาะกับคนอื่นนั่นเองค่ะ
สอนความคิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวมให้กับลูก
อาจเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้ลูกได้เข้าใจว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวพวกเขา ดังนั้น การสอนให้ลูกรู้จักเจรจาและประนีประนอมนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในบทเรียนที่คุณแม่สามารถใช้สอนลูกได้นั่นคือ ลูกจะไม่ได้ทุกอย่างที่ลูกอยากได้ บางครั้งลูกต้องใช้ความพยายามหรือทำบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ลูกต้องการ หากลูกทะเลาะกันเพื่อที่จะได้นั่งที่นั่งหน้าของรถ คุณแม่อาจสอนให้ลูกผลัดเปลี่ยนกันหรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอบางอย่างเพื่อแลกกับการได้นั่งที่นั่งด้านหน้าก็ได้นะคะ
ทำตัวเป็นตัวอย่าง
หากคุณแม่สร้างกฎการ “ไม่ทะเลาะกัน” แต่เด็กเห็นคุณแม่ทะเลาะกับคุณแม่ คุณไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง แต่คุณเองนั่นแหละที่แหกกฎ
เพียงเท่านี้ก็สามารถรับมือการทะเลาะกันของลูกๆ ได้แล้วล่ะค่ะ ยังไงลองเลือกวิธีที่เหมาะสมดูนะคะ
ที่มา