ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่บางคนก็หากิจกรรมคลายร้อนให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะการพาเด็กๆ ไปเล่นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสวนน้ำ หรือการว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง แต่อย่างที่รู้ๆ นะคะอันตรายจากการเล่นน้ำหรือจมน้ำก็มีมากมาย
และสถิติจากสสส.พบว่า มีเด็กไทยเสียชีวิตจากเหตุจมน้ำมากกว่าปีละ 1,400 คนต่อปี เฉลี่ยวันละ 3 คนเลยทีเดียวนะคะ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์กับลูกของเราบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีช่วยเหลือหรือป้องกันได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
สาเหตุที่เด็กมักจมน้ำ
-
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (จมน้ำในแหล่งน้ำที่ระดับ 1-2 นิ้ว)
การจมน้ำของเด็กๆ อายุช่วงนี้มักจะเกิดจากการเผอเรอชั่วขณะของผู้ปกครอง เช่น รับโทรศัพพ์ การเปิดปิดประตูบ้าน การทำกับข้าว ซึ่งในเด็กอายุเท่านี้มักจะทรงตัวยังไม่ค่อยดี จึงทำให้เขาล้มในท่าศีรษะทิ่มลงได้ และก็จะเป็นแหล่งน้ำภายในบ้านหรือรอบๆ บ้านด้วยนั้นเองค่ะ เช่นบ่อน้ำ แอ่งน้ำ กะละมัง ถังน้ำ เป็นต้น
-
เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
เด็กวัยนี้เริ่มมีการออกไปเล่นนอกบ้าน เริ่มโตขึ้นแถมยังซนอีกด้วยนะคะ และเช่นเดียวกันค่ะ เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การที่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น และการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี และโดยส่วนใหญ่เด็กวัยนี้มักจะเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กนั้นเองค่ะ เช่นเมื่อเขาเห็นเพื่อนจมน้ำ เขาก็จะกระโดดลงไปช่วย แล้วสุดท้ายก็ต้องกอดคอกันเสียชีวิตนั้นเองค่ะ เหตุการณ์เหล่านี้มักจะพบอุบัติเหตุตามแหล่งน้ำธรรมชาติ คลอง บึง แม่น้ำ เป็นต้น
การป้องกันและเฝ้าระวัง
- เลือกที่เล่นน้ำให้เหมาะสมกับเด็ก เช่นสระว่ายน้ำที่มีคนดูแลที่ปลอดภัย และเลี่ยงการเล่นน้ำตาม บึง คลอง แม่น้ำ ที่ลึกเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กเล็ก
- ผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้คลาดสายตา
- ฝึกพื้นฐานการว่ายน้ำให้เด็กบ้าง เช่นการลอยตัวในน้ำให้ได้นานที่สุด
- อย่าไว้ใจอุปกรณ์ชูชีพมากนัก เพราะเด็กมักชอบเล่นซน คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
- เรียนรู้หลักการระวังภัยน้ำยามฉุกเฉินจาก สสส. คือ “ตะโกน โยน ยื่น” โดยการตะโกน คือการเรียกผู้ใหญ่มาช่วยหรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ “1669” ส่วนการโน คือการโยนอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำให้เกาะหรือพยุงตัว เช่นเชือก ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่า เป็นต้น และการยื่น คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ โดยเน้นให้เด็กๆ ช่วยคนตกน้ำอย่างถูกต้องโดยไม่ควรกระโดดลงไปช่วยค่ะ
- จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว หาฝาปิดหรือฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ใช้ ติดป้ายเตือน หรือจัดอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำให้หาง่ายบริเวณแหล่งน้ำที่เสี่ยง
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ เช่น ต้องใส่เสื้อชูชีพเมื่อโดยสารเรือ หรือการห้ามดื่มสุราก่อนลงเล่นน้ำต่างๆ อีกทั้งกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ (lifeguard) ดูแลแหล่งน้ำต่างๆ
การช่วยเหลือ
-
หากเด็กยังหายใจเองได้แต่ยังตกใจกลัว
ให้เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าแห้ง และอย่าประมาท ให้รีบพาเด็กไปส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะถึงแม้ช่วยแรกจะหายใจได้แต่อาจมีอาการหายใจลำบากได้ในภายหลัง เนื่องจากถุงลมในปอดถูกทำลายจากการสำลักน้ำนั้นเองค่ะ
-
หากเด็กไม่หายใจหรือหัวใจหยุดเต้น
- เบอร์นี้ต้องจด “1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทรฟรี 24 ชั่วโมง
- เปิดทางหายใจ โดยให้เด็กๆ นอนราบ แล้วกดหน้าผากลงและเชยคางขึ้นเบาๆ
- ตรวจการหายใจในเวลา 3-5 วินาที
- ช่วยเด็กหายใจ ด้วยการให้ประกบปากของผู้ช่วยเหลือ ครอบจมูกและปากของเด็ก แล้วเป่าหายใจออก 2 ครั้ง แต่ละครั้งยาว 1-2 วินาที
- ห้ามอุ้มเด็กพาดบ่า กดท้อง จับเด็กห้อยหัว หรือเขย่ากระแทกน้ำออก เพราะจะทำให้เด็กอาเจียน สำลัก ขาดอากาศหายใจได้ มีโอกาสในการรอดชีวิตที่น้อยลงนั้นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, Linetoday