เป็นปกติอยู่แล้วใช่ไหมคะเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ที่มีทั้งการไหว้, การจัดงานรื่นเริงมักมาควบกันการใช้เสียงที่ดังโดยที่เราไม่ทันได้ระวังหรือแม้แต่ในวันที่ฝนตกหนักมากๆ ก็ก่อให้เกิดเสียงที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน แต่กับเสียงๆหนึ่งที่แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนยังตกใจก็คงไม่พ้นเสียงประทัด เพราะเสียงประทัดนั้นสามารถดังขึ้นมาได้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยหากไม่ใช่ผู้จุด รึบางครั้งแม้จะเห็นแล้วพอดังขึ้นมาทีใจเราก็ยังเต้นรัวและเร็วตามใช่ไหมคะ
และแบบนี้เจ้าตัวเล็กของเราที่ขี้ตกใจกว่า ก็น่าจะรู้สึกกลัวมากอย่างแน่นอน ซึ่งอาการที่ทำให้ลูกหวาดกลัวอาจมีอาการดังนี้
- ร้องไห้, โวยวาย
- สั่นผวา
- มือชา, เท้าชา
- ใจสั่น ใจเต้นแรง
หากไม่อยากให้คนดีของเรามีอาการที่กลัวจนเกินไป เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า ทำไมเจ้าตัวเล็กของเราถึงกลัวและหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ของความกลัวจะต้องทำอย่างไร
อุปกรณ์ที่ควรพกเวลาได้ยินเสียงประทัด
- ที่ครอบหูสำหรับเด็ก
- ตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดของลูก
- ผ้าห่ม, เสื้อที่ให้ความอบอุ่น
- มือของพ่อแม่หรืออาจเป็นอ้อมกอด
เหตุที่ทำให้กลัวเสียงประทัด
- อายุยังน้อย ยิ่งช่วงอายุ 3-4 ขวบ จะเป็นช่วงที่อ่อนไหวที่สุด ทำให้แยกไม่ออกว่าสิ่งไหนคือความน่ากลัวจริง สิ่งไหนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้เด็กเกิดจินตนาการไปในทางร้ายซะหมด จึงรู้สึกกลัว
- มีประสบการณ์ไม่ดี เกี่ยวกับการได้ยินเสียงดังเช่น ได้ยินตอนอยู่คนเดียวทำให้เกิดความหวาดระแวง, เสียงดังโดยไม่รู้ตัวทำให้เกิดการเต้นของหัวใจที่แรงขึ้น
- รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะเสียงที่ดังมักจะมาพร้อมกับสิ่งที่น่ากลัว หากลูกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงดังบ่อยๆ เขาจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว และก่อให้เกิดเหตุร้ายกับตัวเขาได้
- ถูกหลอกให้กลัว ในบางครั้งเวลาผู้ใหญ่ขู่เด็กก็มักจะขู่ให้ทุกสิ่งดูน่ากลัวเกินกว่าความจริง เพื่อจะได้ควบคุมลูกเราได้ง่ายๆ เช่น ระวังเสียงนั้นนี้นะ แปลว่ากำลังจะมีปีศาจมาลักพาตัวไป พูดเพียงแค่นี้ เด็กก็จะรู้สึกกลัวและลนลานทุกครั้งที่เกิดเสียงนี้ขึ้น
วิธีช่วยเหลือและปลอบใจ
ในกรณีที่เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกเรากลัวมากหรือน้อยอาจต้องมีการทดสอบและดูอาการก่อนว่าเป็นอยู่ในระดับไหนจึงจะตัดสินใจได้ว่าควรปลอบใจและรักษาอย่างไรซึ่งระดับความกล้วสามารถช่วยเหลือได้ตามนี้
- ฝึกให้เริ่มชินกับเสียง วิธีนี้อาจลองเปิดเสียงที่มีความคล้ายคลึงให้ได้ยินบ่อยขึ้น เช่นเปิดคลิปหรือรายการที่มีเสียงประทัดดังแต่ให้ดังไม่เกิน 10 วินาทีแล้วรีบเปลี่ยนคลิปหรือปิดลง แบบนี้จะสามารถเพิ่มความเคยชินให้กับลูกได้แต่ต้องค่อยๆ ทำ เพราะไม่งั้นเด็กอาจจะยิ่งกลัวหากได้ยินเสียงนานๆ
- เตรียมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือติดตัวไปทุกครั้ง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในละแวกที่ไหนหรือช่วงไหนจะเกิดเสียงดังขึ้น ดังนั้นการเตรียมผ้าห่ม, ที่ครอบหูหรือแม้แต่ของที่เขาได้กอดและรู้สึกอุ่นใจ ก็เป้นอีกหนึ่งทางช่วยที่เมื่อเกิดเสียงที่ดังจนตกใจ ลูกจะได้มีอุปกรณืในการช่วยบรรเทาความกลัวของตนเองลง
- บอกให้รู้ทุกครั้งในกรณีที่จะต้องพาไปในที่ที่มีเสียงประทัด เพราะการเตรียมตัวหรือรู้ล่วงหน้านั้น ก็สามารถช่วยให้ลูกได้รับรู้ก่อนและพร้อมเผชิญกับสิ่งที่ต้องได้ยิน และหากลูกรู้สึกไม่สบายใจคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความเชื่อใจว่าจะไม่ทิ้งหรือปล่อยไว้ ทั้งยังจะรีบพาออกให้ห่างจากสถานการณ์ให้เร็วที่สุด
- ไม่หลอกหรือพยายามบอกว่าเสียงนี้น่ากลัว เพราะหากเราพยายามปกป้องลูกจากเสียงที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ในเวลาเดียวกันกลับชอบใช้เสียงที่ดังในการขู่หรือลงโทษ ลูกของเราก็ไม่มีทางที่จะหายกลัวเสียงดังหรือเสียงที่เขาไม่ชอบได้เลยแม้เราจะพยายามแก้แค่ไหนก็ตาม
- หากรู้สึกว่าลูกมีอาการกลัวที่มากกว่าปกติเช่นมือชา, หายใจติดขัด, สั่นกลัวอย่างเห็นได้ชัด อาจต้องรีบพาไปพบแพทย์เพราะเป็นไปได้ว่าความกลัวนี้ของลูกจะเข้าข่ายอาการ Phobia หรือสภาวะการกลัวที่เป็นไปในขั้นวิตกจริต
ที่มา : mgronline , 2020, baby.kapook