Parents One

ใจเย็นนะแม่จ๋า! 6 ขั้นตอนควบคุมอารมณ์เมื่อโมโหลูก

เป็นกันไหมคะ เวลาที่เราโมโหทีไร เส้นอารมณ์จะขาดผึงจนไม่สามารถควบคุมได้ เราเอาแต่บ่นและเสียงดังใส่ลูก เพราะความโกรธหรืออารมณ์โมโหเป็นเรื่องของมนุษย์ค่ะ ไม่ว่าใครก็มีอารมณ์โมโหได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่สำคัญคือเราจะจัดการกับความโมโหยังไงให้มีสติมากกว่า วันนี้เราจึงมีขั้นตอนการควบคุมอารมณ์เวลาที่โมโหลูกมาฝากค่ะ อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ จะทำได้ดีขึ้นแน่นอนนะคะ

1.ตั้งสติและรับรู้อารมณ์ตัวเองว่า “กำลังโมโห”

อย่างแรกที่ต้องทำคือรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองค่ะ ว่าตอนนี้คุณพ่อคุณแม่กำลังรู้สึกอะไร เพราะอะไร เช่น รู้สึกว่ากำลังโมโห เพราะลูกไม่ยอมเก็บของเล่นสักทีทั้งที่บอกไปหลายครั้งแล้ว

2.บอกลูกด้วยน้ำเสียงสงบ ไม่ต้องใส่อารมณ์ว่า “แม่กำลังโมโหอยู่นะ”

พอเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองแล้ว ก็แนะนำให้พูดกับลูกตรงๆ ค่ะว่าเรากำลังรู้สึกอะไร เพราะอะไร แต่ต้องพูดด้วยน้ำเสียงสงบและห้ามใส่อารมณ์โดยเด็ดขาดนะคะ เช่น “ตอนนี้แม่กำลังโมโหหนูอยู่นะคะ ที่แม่บอกให้เก็บของเล่นหลายครั้งแล้ว แต่หนูไม่ยอมทำตาม”

3.บอกลูกว่าเดี๋ยวเราค่อยมาคุยกันหลังจากที่แม่ใจเย็นลงแล้ว

จากนั้นให้บอกลูกว่าเดี๋ยวเราจะไปจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อน แล้วจะมาคุยกับลูกหลังจากที่ใจเย็นลงแล้ว เช่น “เดี๋ยวแม่จะไปหายใจลึกๆ แป๊บนึง แล้วเรากลับมาคุยกันตอนที่แม่ใจเย็นลงแล้วนะคะ”

4.ใช้เวลากับตัวเองสักแป๊บเพื่อให้ใจเย็นขึ้น

พอบอกลูกเสร็จให้คุณพ่อคุณแม่ปลีกตัวมาจากลูกแล้วใช้เวลาอยู่กับตัวเองสักพักเพื่อให้ใจเย็นลงค่ะ อาจนับ 1-10 ช้าๆ หายใจเข้าออกลึกๆ หรือทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองใจเย็นลง เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีสติและควบคุมตัวเองได้ดีกว่า

5. คิดเสมอว่าเวลาที่เราตะคอกลูก ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น

ให้เราคิดอยู่เสมอนะคะว่าเวลาที่เรากำลังอารมณ์ไม่ดี คำพูดของเราคือศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดที่จะทำร้ายจิตใจของคนอื่นได้ โดยเฉพาะจิตใจของลูก ดังนั้นพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และอย่าตะคอกลูกด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเพราะทั้งลูกและเราก็จะรู้สึกไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น

6. หลังจากที่ใจเย็นลงแล้ว “ค่อยคุยกับลูก”

เมื่อเราใช้เวลาจนเริ่มใจเย็นลง หัวค่อยๆ หายร้อนแล้วก็ค่อยไปคุยกับลูก คุยด้วยเหตุผล ทบทวนอารมณ์ที่เกิดขึ้น มานั่งสะท้อนอารมณ์กันแล้วคุยว่าลูกจะมีวิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นยังไง เพื่อไม่ให้เกิดความโมโหแบบนี้ขึ้นอีก

อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูยากใช่ไหมคะ เพราะเมื่อถึงหน้างานจริงๆ หลายคนคงฟิวส์ขาด ไม่ได้นึกถึงขั้นตอนเหล่านี้แน่ๆ ถึงอาจจะยากแต่เชื่อว่าถ้าเราฝึกฝนเรื่อยๆ รู้จักจับความรู้สึกของตัวเองได้บ่อยๆ เมื่อนานไปเราก็จะรับมือกันสถานการณ์แบบนี้ได้ดีขึ้นแน่นอน

และที่สำคัญเมื่อเราทำเป็นตัวอย่างบ่อยเข้า ลูกก็จะสามารถรับมือกับอารมณ์โมโหของตัวเองได้เช่นกัน เพราะถ้าอยากสอนให้ลูกควบคุมอารมณ์ได้ พ่อแม่ต้องทำให้ได้ก่อนนะคะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก