ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหนก็ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีมากน้อยเพียงใด โดยพ่อแม่ต้องมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก วันนี้เราจึงมี 8 วิธีตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ
พฤติกรรมที่เรามักไม่อยากให้เด็กทำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
- การไม่เชื่อฟังเมื่อห้ามปราม เช่น ปีนขึ้นที่สูง
- การไม่ยอมทำอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ทำ เช่น ทำการบ้าน เก็บของให้เข้าที่ ทำงานที่ได้รับมอบหมาย
- พฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทำร้ายร่างกายตัวเองและคนอื่น ทำลายสิ่งของ ใช้คำหยาบคาย
1. การใช้เหตุผล (Reasoning)
เด็กจะเข้าใจได้ง่ายหากให้เหตุผลที่ตรงไปตรงมาในเวลาที่เขาทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะทำให้แก้ไขพฤติกรรมนั้นได้ ไม่ต้องอธิบายยืดเยื้อ ยิ่งในเด็กเล็กต้องพูดให้สั้น กระชับ เช่น มีดเล่นไม่ได้เพราะจะบาดมือ เอาของเล่นเข้าปากไม่ได้เพราะจะติดคอ
2. การใช้ท่าทีที่หนักแน่นและจริงจัง (Firmness)
การพูดด้วยท่าทีที่หนักแน่นและจริงจังเวลาที่ลูกอิดออดไม่ยอมทำในสิ่งควรทำ จะช่วยให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เอาจริง และจะเกิดการปรับพฤติกรรมขึ้น อาจจะพูดให้ลูกทำเดี๋ยวนี้และใช้ท่าทีประกอบ เช่น เมื่อลูกไม่ยอมเก็บของเล่นไม่ว่าจะพูดกี่ทีแล้วก็ตาม ให้ใช้เสียงหนักแน่นแต่ไม่ใช่การตะคอก พร้อมจูงมือลูกให้ไปหยิบของเล่นมาใส่ในกล่อง
3. การใช้สิ่งทดแทน (Alternative response)
เด็กๆ มักจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดหรืออันตราย ดังนั้นเมื่อห้ามไม่ให้ลูกทำก็อาจหาของอย่างอื่นมาทดแทนหรือเบี่ยงเบนความสนใจลูก เช่น ลูกเล่นของแหลมๆ ก็เอาของออกจากมือลูกแล้วหาอย่างอื่นที่น่าสนใจมาใส่ในมือลูกแทน
4. ให้ลูกแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก (Freedom to discuss ideas and feelings)
เวลาที่ลูกทำผิดแล้วเราบอกเหตุผลลูกไปแล้ว เราอาจให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือความรู้สึกของตัวเองต่อพฤติกรรมที่แสดงออกไป เพื่อที่เราจะได้เข้าใจลูกมากขึ้น และยังทำให้เขารู้เท่าทันตัวเอง และจะเป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้ว่าเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้หรือถ้ารู้สึกอะไรก็สามารถชี้แจงได้
5. การให้รางวัล (Positive reinforcement)
เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่าง แปรงฟันเอง กินข้าวเอง ก็ควรจะมีการให้รางวัลโดยรางวัลในที่นี้ เช่น ชื่นชม โอบกอด ลูบหัว จะช่วยทำให้เด็กพึงพอใจและทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำๆ แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักลืมที่จะชมลูกกลับตำหนิเมื่อลูกทำผิดมากกว่า หรือเมื่อลูกหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเราก็สามารถชื่นชมลูกได้ (จะเรียกว่าการเสริมแรงทางลบ)
6. การเลิกให้ความสนใจ (Ignoring)
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การทำเป็นไม่สนใจจะช่วยให้เขาเลิกทำพฤติกรรมนั้นได้ เพราะเด็กชอบที่จะได้รับความสนใจจากผู้อื่น เมื่อลูกเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำใม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ก็จะหยุดทำพฤติกรรมนั้นไปโดยปริยาย
7. ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี (Positive model)
การที่เด็กจะมีพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับแม่แบบ นั่นก็คือพ่อแม่ เพราะเด็กคือนักเลียนแบบตัวยง เขาจะแสดงพฤติกรรมตามสิ่งที่เขาเห็น มากกว่าคำสั่งสอนจากคำพูดอย่างเดียว ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเป้นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก ก็จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้มากขึ้นทีเดียว
8. การลงโทษ (Punishment)
การลงโทษจะเป็นสิ่งสุดท้ายทเมื่อใช้วิธีอื่นๆ ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น โดยเมื่อทำโทษพ่อแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์โกรธ เกลียด ไม่ชอบเด็ก เพราะจะทำให้ลูกยิ่งต่อต้าน ควรลงโทษเพื่อให้ลูกรู้ว่าเราเพียงต้องการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่หลายระดับ
- การดุว่า ใช้เมื่อบอกห้ามหรือให้เหตุผลไม่ได้ผล
- แยกเด็กไปตามลำพัง เช่น ให้เข้ามุม หรือนั่งแยกออกมาจากคนอื่นสักช่วงเวลาหนึ่ง
- การปรับ ให้เด็กรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำเสียหายไป
- การตี อาจหยุดพฤติกรรมได้บางครั้ง แต่การใช้ความรุนแรงจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอาจจะเป้นการทำลายความสัมพันธ์และลูกอาจเลียนแบบการใช้ความรุนแรงได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก