โดยปกติแล้วเด็กจะสามารถดูหน้าจอต่างๆ ได้ในช่วงอายุเกิน 2 ปีไปแล้วแต่ปัจจุบันนั้นการห้ามใช้จอทำได้ยากมากๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีซึ่งหากลูกติดหน้าจอหรือใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ผลกระทบแรกที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลก็คือสุขภาพร่างกายของลูก
เพราะการติดจอนั้น ส่งผลให้เป็นทั้งโรคอ้วน จากการนั่งนอนไม่ขยับไปไหน, ทานอาหารที่ไม่หลากหลาย, ใช้สายตามากเกินไปจนอาจต้องตัดแว่น และอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้ใครคือโรคสมาธิสั้น ยิ่งเห็นภาพที่ขยับอย่างรวดเร็วหรือการตัดที่ไวมากแค่ไหนก็ยิ่งทำให้สมาธิของลูกนั้นว่อกแว่กได้ง่ายซึ่งปัจจุบันเด็กที่มีอาการของสมาธิสั้นมีมากถึงร้อยละ 5-10
โรคสมาธิสั้นนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น โรคสมาธิสั้นและสมาธิสั้นเทียมซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับอาการสมาธิสั้นเทียมที่เกิดจากการใช้มือถือมากเกินไปกันค่ะ
โรคสมาธิสั้นเทียมหรือไฮเปอร์เทียม
คงเป็นคำที่ติดปากคุณพ่อคุณแม่หลายท่านว่า ลูกเรานั้น ช่างไฮเปอร์หรืออยู่ไม่สุข แรกๆ อาจมองเป็นพัฒนาการตามวัยแต่หากมีมากเกินไปก็คงต้องเริ่มสังเกตแล้วว่ามีความผิดปกติอะไรหรือเปล่าซึ่งอาการดั่งกล่าวนั้นคือส่วนหนึ่งของอาการสมาธิสั้นในเด็กนั่นเองค่ะ
อาการสมาธิสั้นประกอบไปด้วย hyperactive (ความซนไม่หยุดนิ่ง), inattention (ไม่มีสมาธิในการจดจ่อ),impulsivity ( ขาดการไตร่ตรองและรอบคอบ) แต่กับอาการสมาธิสั้นเทียมหรือไฮเปอร์เทียมนั้นมีอาการที่คล้ายกับสมาธิสั้นธรรมดามาก การแยกว่าเป็นจริงหรือเทียมสังเกตได้จากกรรมพันธุ์ของพ่อแม่ที่ส่งมาถึงลูก หากในบ้านมีใครที่มีประวัติเป็นสมาธิสั้น บุตรหลานของเราก็คงจะได้รับถ่ายทอดมาไม่มากก็น้อย
แต่หากไม่มีใครในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นสมาธิสั้นหรืออาการไฮเปอร์แต่เจ้าตัวเล็กมีทั้งอาการว่อกแว่ก, อยู่ไม่สุขเกินพอดี, ใจร้อน, อะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะเริ่มอารมณ์เสีย ก็มีแนวโน้มสูงว่าลูกๆ ของเราเป็นโรคสมาธิสั้นเทียมเข้าแล้ว
สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นสมาธิสั้นเทียม
พอขึ้นชื่อว่าเทียมแล้วแน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของอาการไม่ได้เกิดมาจากกรรมพันธุ์หรือภาวะแทรกซ้อนของสมองใดๆ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่เป็นเรื่องของระบบการใช้ชีวิตที่ทำให้เด็กส่วนมากเข้าข่ายหรือเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม และพฤติกรรมที่ทำให้เจ้าตัวเล็กของบ้านเป็นสมาธิสั้นเทียม ก็คือ
- อยู่กับหน้าจอต่อวันเป็นเวลานานเกินเหมาะสม
- คุ้นชินกับความรวดเร็วของอินเตอร์เน็ตจนทำให้รอไม่เป็น
- ได้รับสารทางเดียวตลอดในการเรียนรู้
อาการของเด็กที่เป็นสมาธิสั้นเทียม
เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุแล้วว่าเหตุใดจึงทำให้เด็กๆ ในบ้านเป็นโรคสมาธิสั้นเทียมแล้ว มาดูอาการหรือผลกระทบจากจากเป็นสมาธิสั้นกันค่ะ ว่าส่งผลอย่างไรบ้างกับเจ้าตัวน้อยของเรา
- อารมณ์ร้อน, ฉุนเฉียวง่าย
- รอไม่เป็น, กระวนกระวาย ว่อกแว่กง่าย
- เอาแต่ใจตนเอง ไม่ได้ดั่งใจจะโวยวาย งอแงทันที
- ไม่มีสมาธิในการเรียน
วิธีรักษาหรือดูแลเด็กสมาธิสั้นเทียม
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ เข้าใจความสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กของเราค่ะ แน่นอนว่าเมื่อเห็นเขาไม่ตั้งใจเรียนหรือติดจอมากเกินไปจนเป็นสาเหตุให้มีอาการดังกล่าว ก็อาจจะรู้สึกฉุนเฉียว, ไม่พอใจ แต่เราต้องทำใจให้เย็นขึ้นเพื่อมามองปัญหา และแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องไปพร้อมๆ ซึ่งการแก้ครั้งนี้เองก็ต้องอาศัยความร่วมมือของอาจารย์ที่ดูแลลูกของเราที่โรงเรียนด้วยนะคะ จะมีการแก้ไขอย่างไรบ้างไปดูกัน
- ให้คุณครูจัดที่นั่งด้านหน้าไม่ติดหน้าต่างหรือประตู เพราะอาจทำให้หันเหไปสนใจอย่างอื่นได้ง่าย
- เวลาเขาทำสิ่งใดสำเร็จหรือใช้สมาธิอย่างเต็มที่ต้องชมเชยให้เขารู้สึกได้รับกำลังใจ จะทำให้เขาตั้งใจทำทุกครั้ง
- ทำข้อตกลงแบ่งเวลาการใช้จออย่างชัดเจนในแต่ละวันเพื่อควบคุมการใช้ อาทิจำกัดเวลาดูโทรทัศน์, การใช้ไอแพด, โทรศัพท์มือถือ
- ฝึกวินัยการรอคอยเช่น การรอได้ของเล่น, การรอได้ทานอาหารที่ชอบ
- หากิจกรรมที่ทำให้ได้ฝึกสมาธิมาเล่นกับลูก เช่น การวาดภาพ, ปลูกต้นไม้, อ่านหนังสือ, ปั้นดินน้ำมัน
และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลคือใช้เวลากับเด็กๆ ของเราให้มากขึ้น อย่าให้โทรศัพท์มือถือเป็นพี่เลี้ยงแทนเพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาพูดคุยและเรียนรู้เจ้าตัวน้อยมากๆ ก็จะทำให้เขาไม่ติดจอ อยากใช้เวลาอยู่กับเรา นอกจากจะได้แก้ปัญหาอาการสมาธิสั้นเทียมแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ของตนในบ้านดีขึ้นอีกด้วย
สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มา : amarinbabyandkids , windmilleec , mgronline , manarom