“ทำยังไงดี ไม่ว่าจะพูดอะไรลูกชอบเถียงกลับมาตลอดเลย” เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเจอปัญหานี้ใช่ไหมคะ โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่ลูกกำลังอยู่ในวัยช่างพูด เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ไปจนถึงลูกที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็หัวอ่อน เชื่อฟังดีแท้ๆ แต่ทำไมอยู่ดีๆ ถึงกลับต่อต้านทุกสิ่งที่เราพูดได้ขนาดนั้น ปัญหานี้อาจเป็นปัญหาโลกแตก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราทุกคนก็เคยผ่านการเถียงมาก่อน ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจลูกไปพร้อมๆ กันเถอะค่ะ บอกเลยว่าปัญหานี้ท้าทายและต้องใช้ใจในการแก้ปัญหามากๆ
ทำไมลูกชอบเถียง
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าการเถียงเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่เถียง เพราะการเถียงเป็นพัฒนาการตามวัยในทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะเด็กวัย 3-5 ขวบ ที่เขาเริ่มพูดได้ และเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เพียงแต่ว่าเขายังไม่สามารถเรียบเรียงคำ หรืออธิบายเหตุผลด้วยคำพูดที่รู้เรื่องน่าฟัง นั่นทำให้ผู้ใหญ่คิดว่านี่คือการยอกย้อนหรือเถียงคำไม่ตกฟาก
ซึ่งการเถียงจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือเรื่องราวมันไม่ใช่แบบนั้นสักหน่อย เพราะในหลายครั้งที่พ่อแม่มักเหมารวมการกระทำของลูก ด้วยคำพูดตำหนิและใส่อารมณ์เพิ่มเข้าไป ประมาณว่า “บ้านรกอีกแล้ว หนูไม่เคยเก็บของเล่นเลย” “ทำไมไม่รู้จักช่วยงานบ้านบ้าง” ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูดีๆ ลูกก็ทำในสิ่งที่เราบอก เพียงแต่ว่าในครั้งนี้เขายังไม่ได้ทำ เราก็แค่บอกให้เขาทำแค่นั้นเอง เช่น “ช่วยแม่เก็บของเล่นหน่อยนะคะคนเก่ง คราวที่แล้วที่หนูเก็บเอง เก่งและเรียบร้อยมากๆ เลยค่ะ”
แต่จริงๆ แล้ว การเถียงมีข้อดีกว่าที่คิดนะคะ เพราะทำให้เรารู้ว่าลูกกำลังคิดอะไรหรือรู้สึกยังไง เพราะการแสดงออกย่อมดีกว่าการเก็บกด เก็บไว้เงียบๆ ทำทีเหมือนเห็นด้วยแต่จริงๆ แล้วลูกคิดอะไรอยู่เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะทำยังไงให้ลูกเถียง หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
แยกให้ออกระหว่าง “เถียง” กับ “แสดงความคิดเห็น”
คำว่า “เถียง” กับ “แสดงความคิดเห็น” นั้นมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ค่ะ โดยปกติแล้ว คนเราย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และต้องการอธิบายสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวออกมา รวมไปถึงความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการอธิบายเพื่อให้เข้าใจตรงกัน หรืออธิบายเพื่อให้รับรู้ถึงเหตุผลของพฤติกรรมหรือสิ่งที่เราได้ทำลงไป ซึ่งการทำแบบนี้ก็เรียกว่าการแสดงความคิดเห็นนั่นแหละค่ะ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นการเถียงทันที หากเรามี “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้นถ้าจะให้สรุปง่ายๆ คือ
- การแสดงความคิดเห็น คือ การอธิบายอย่างมีเหตุมีผล ไม่ขึ้นเสียง ไม่ชักสีหน้า ไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง อธิบายเพราะอยากที่จะให้คนอื่นรับรู้ถึงอารมณ์หรือความรู้สึก เพื่อให้เข้าใจกัน ไม่ใช่เอาชนะ
- การเถียง คือ การพูดด้วยอารมณ์ และใช้เสียงดังข่ม เน้นเอาชนะ ในบางครั้งก็พูดข้างๆ คูๆ ไม่ได้มีเหตุผลที่ชัดเจน
เพราะฉะนั้น เราต้องดูกันดีๆ นะคะ ว่าลูก ‘เถียง’ หรือว่าเขาแค่กำลัง ‘แสดงความคิดเห็น’ เพราะถ้าเกิดเราตัดสิน และให้คำพูดเหมารวมไปแล้วว่านี่คือการเถียง และใช้คำพูดประมาณว่า “เถียงอีกแล้ว” “เถียงคำไม่ตกฟาก” “เป็นเด็กเป็นเล็กมาเถียงผู้ใหญ่ได้ยังไง” ลูกจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดคือการอธิบาย ไม่ใช่การเถียง นั่นทำให้เขาตั้งแง่กับเรา และไม่ว่าคุยกันกี่ทีก็จะลงเอยด้วยการทะเลาะกันทุกครั้งแน่นอน
ปรับพฤติกรรมการเถียงของลูก
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า สิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ คือการเถียง เราก็ต้องเอาตัวเองมาเป็นพวกเดียวกับลูกแล้วล่ะค่ะ อย่าตั้งแง่ และทำให้ลูกเห็นว่า ฮัลโหล นี่พ่อแม่เอง เราคือพวกเดียวกันนะ ไม่ต้องเอาชนะกันก็ได้ พ่อแม่พร้อมรับฟังหนูเสมอ
อย่างแรกคือพ่อแม่ต้องใจเย็น อย่าใช้อารมณ์นำทางเด็ดขาด เข้าใจว่าเราเป็นคนก็ต้องมีอารมณ์เหมือนกัน แต่ในเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็ต้องมีสติและควบคุมตัวเองได้ดีกว่าเด็กอยู่แล้ว เมื่อเราควบคุมอารมณ์ได้แล้ว ให้ “เปิดใจ” ฟังเขาค่ะ เปิดใจคือเปิดใจจริงๆ นะคะ ไม่ใช่แค่หู ต้องรับฟังและคิดตามในมุมของลูกด้วย ว่าเหตุผลที่เขายกขึ้นมาคืออะไร แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย แต่ก่อนอื่นต้องฟัง ฟังเขาให้จบก่อน อย่าเพิ่งขัด
ถ้าลูกพูดด้วยอารมณ์ และเสียงดัง เราก็เอาน้ำเย็นเข้าลูบ อาจใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น ลูบหลัง จับมือ เพื่อให้ลูกรู้สึกใจเย็นลง จากนั้นให้ค่อยๆ พูดด้วยเหตุผล “หนูลองพูดด้วยน้ำเสียงนิ่มนวลกว่านี้นะคะ ไม่ต้องใช้อารมณ์นะ ค่อยๆ พูด แม่เข้าใจว่าหนูหมายความว่าอะไร งั้นมาลองฟังเหตุผลของแม่ดูไหม ให้หนูลองฟังก่อน แล้วเราคิดเห็นว่ายังไง ก็มาลองคุยกันนะ”
นอกจากนี้เราต้องสอนให้ลูกเข้าใจถึงการเลือกใช้คำพูด ว่าสิ่งที่พูดออกไปโดยไม่ได้ผ่านการคิดหรือไตร่ตรอง ใช้แต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะสร้างความเจ็บปวดภายในจิตใจของคนฟังอย่างไม่มีวันลบออกได้ แต่คนพูด พูดไปแป๊บๆ เดี๋ยวก็ลืม อย่างที่เขาบอกกันว่า “คนพูดไม่เคยจำ คนฟังไม่เคยลืม” เพราะฉะนั้นก่อนจะพูดหรือเถียงอะไร ต้องคิดถึงจิตใจคนฟังเยอะๆ
แต่ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องตอบสนองทุกอย่างที่ลูกพูดนะคะ ถ้าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง หรือลูกเข้าใจอะไรผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด มีการลงโทษที่เหมาะสมหรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ที่สำคัญคือต้องเปิดใจคุยกันก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกัน และทำให้จิตใจของทั้งพ่อแม่ลูกขุ่นมัวไปเปล่าๆ ค่ะ
ที่สำคัญมากที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกค่ะ คือเวลาที่เราคุยกันเอง ก็ต้องคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เพราะถ้าขนาดเราคุยกันเอง ยังทะเลาะกัน ใช้คำพูดประชดประชัน จ้องแต่จะเอาชนะ เราก็คงไปสอนให้ลูกเลิกเถียง หรือพูดกันด้วยเหตุผลไม่ได้หรอกค่ะ จริงไหมคะคุณพ่อคุณแม่ ?
ข้อมูลอ้างอิง