เป็นยุคที่เรียกได้ว่าพ่อแม่ทำงานกันทั้งคู่ ทำให้ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก บางคนก็นำไปฝากคุณปู่คุณย่า หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ และลืมนึกถึงอาชีพที่เรียกว่า “พี่เลี้ยงเด็ก” ที่แม่ๆ หลายคนมองว่าเป็นเพียงแค่คนที่มาดูแลลูกเรื่องการเป็นอยู่ แต่จริงๆ แล้ว หน้าที่พี่เลี้ยงเด็กต้องทำมากกว่านั้น โดยเฉพาะการให้ความรักความอบอุ่น ความปลอดภัย และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างเหมาะสมด้วย
แต่ด้วยข่าวคราวที่เห็นว่าพี่เลี้ยงตีลูกบ้าง ทำร้ายร่างกายลูกบ้าง ยิ่งทำให้แม่ๆ ไม่ไว้ใจพี่เลี้ยงเด็กที่จะมาดูแลลูก วันนี้เรามีวิธีการเลือกพี่เลี้ยงเด็กมาให้คุณพ่อคุณแม่กันค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าเราจะพิจารณาจากอะไรกันบ้าง
1. อายุและการศึกษา
พี่เลี้ยงเด็กควรมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพราะงานแบบนี้ต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และวิจารณญาณที่มากพอ และหากเป็นไปได้ควรมีการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นต้นไป เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานและสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ยิ่งหากเคยฝึกอบรมในหลักสูตรเกี่ยวกับพัฒนาการหรือการเลี้ยงดูเด็กมาก่อนด้วยจะยิ่งดีมากค่ะ
2. ประสบการณ์ในการดูแลเด็ก
พี่เลี้ยงเด็กควรมีประสบการณ์ในการดูแลเด็กมาก่อน เช่น เคยเลี้ยงลูก เคยเลี้ยงหลาน เพื่อจะได้มีความรู้ ผ่านสิ่งต่างๆ และแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้สามารถเข้าใจเด็กได้ในระดับหนึ่ง ทั้งอารมณ์ ความต้องการ สถาพแวดล้อม การตอบสนองที่ถูกต้อง เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของพี่เลี้ยงเลยค่ะ
3. สุขภาพร่างกาย
พี่เลี้ยงควรมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกาย และต้องไม่มีโรคติดต่อ เช่น วัณโรค โรคผิวหนัง หรือเจ็บป่วยบ่อยๆ ต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะรับแรงของเด็กๆ ที่ซุกซนได้นั่นเองค่ะ
4. บุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอ
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข้อที่สำคัญ เพราะพี่เลี้ยงเด็กยังไงก็ต้องรักเด็กค่ะ ชอบอยู่กับเด็ก เล่นกับเด็กได้ ร่าเริง และที่สำคัญต้องเป็นคนรักความสะอาด ละเอียดรอบครอบ และมักจะหากิจกรรมให้เด็กๆ ทำได้เสมอ
5. เราต้องไว้ใจได้
ต้องเลือกคนที่เราไว้ใจได้ เพราะคนที่เราจะเลือกมาเป็นพี่เลี้ยงสักคน เขาต้องไม่ปล่อยหรือทอดทิ้งลูกของเราไว้เพียงลำพังในช่วงเวลาลับหลังเราไปแล้ว หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจก็ห้ามเลยเด็ดขาด ข้อนี้ต้องพิจารณาเป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ
6. สังเกตปฏิกิริยาระหว่าพี่เลี้ยงและลูกของเรา
ในการพิจารณา เราสามารถลองให้เขาได้เจอกับลูกที่เขาต้องดูแลจริงๆ เผื่อดูว่าเขามีปฏิกิริยายังไงกับลูก เพื่อแสดงให้เห็นว่าพี่เลี้ยงมีความสบายใจที่ได้อยู่กับเด็กมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญควรสอบถามเรื่องการแก้ปัญหาหรือการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยค่ะ
ข้อระวัง
- ข้อมูลการสัมภาษณ์ก็บอกไม่ได้ว่าจริงแท้แค่ไหน
- ควรรู้ที่มาที่ไปของพี่เลี้ยงที่ชัดเจน
- ไม่ปล่อยให้พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กตามลำพัง ควรมีคนที่ไว้ใจ (ปู่ย่าตายาย) อยู่สอดส่องห่างๆ ด้วย
- กำหนดกฎระเบียบและทิ้งข้อมุลสำหรับการติดต่อไว้
- สอบถามพี่เลี้ยงอย่างละเอียดทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน
อ้างอิงจาก : HDmall.co.th, Siriraj online