ปัญหาลูกไม่ยอมนอนตอนกลางวัน เชื่อว่าหลายครอบครัวก็ประสบปัญหานี้อยู่ใช่ไหมละคะ หรือว่าบางบ้านอาจจะเห็นว่าลูกของเรานอนไปไม่นาน จู่ๆ ก็ตื่น ต้องคอยไกวเปลตลอดเวลา จนบ้างครั้งคุณแม่ๆ อย่างเราก็ไม่ได้นอนเลยทีเดียว และการที่เด็กๆ ไม่ได้นอนจะมีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง แล้วคุณแม่ๆ ต้องทำอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
สาเหตุที่ลูกไม่ยอมนอน
- กินมากเกินไปจนอึดอัด
สังเกตได้จากเด็กๆ มักจะร้อง บิดตัวไปมา มีเสียงครืดคราดในลำคอ เหมือนเสียงหมูกรน จนบางครั้งอาจจะมีอาเจียนหรืแหวะนมออกทางปากหรือจมูกได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ นอนหลับไม่สนิทหรืองอแงไม่ยอมนอนนั้นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องให้เด็กๆ กินให้พอดีนะคะ
- เป็นที่นิสัยพื้นฐานของเด็กเองที่นอนหลับยาก
จะพบบ่อยที่สุดในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบแรก – 5 ปี และสามารถติดนิสัยไปจนโตได้ สำหรับเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่จะต้องมีสิ่งที่ตนเองชอบทำให้ก่อนถึงจะหลับได้ เช่น ต้องให้พ่อแม่อุ้มแล้วเขย่าตัวจนหลับ หรือต้องดูดนมก่อนจึงจะหลับได้ แล้วเมื่อเขาตื่นก็ต้องทำเช่นเดิมจนกว่าจะหลับไปอีก จนติดนิสัยไปจนโตได้ค่ะ
- ความเจ็บป่วย
ในบางครั้งลูกเกิดไม่สบายขึ้นมา เป็นไข้ หายใจไม่สะดวก หรือไอขณะที่กำลังจะนอน ทำให้เด็กๆ เกิดความยากลำบากในการนอน และต้องตื่นอยู่บ่อยๆ นั้นเองค่ะ
- บรรยากาศในการนอน
สถานที่ที่เด็กนอนก็มีผลต่อการนอนหลับนะคะคุณแม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากบ้านอยู่ริมถนน ก็จะมีผลเสียต่อการนอนหลับมากมาย เช่น เสียง แสง หรืออย่างอื่นที่ไม่พึงประสงค์ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอนนั้นเองค่ะ
- หวงเล่นมากเกินไป
เด็กบางคนถึงแม้จะง่วงขนาดไหน ก็ยังไม่อยากนอนเพราะว่าเขาติดเล่น อยากเล่นอันโน้นอันนี้อยู่ไม่อยากนอน จนส่งผลให้ตอนกลางคืนเด็กเหนื่อยเกินไป จนกลายเป็นนอนยากขึ้นและคุณภาพการนอนที่ไม่ดีนั้น ทำให้เด็กๆ ฝันร้ายได้นะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรจะกำหนดเวลา หากิจกรรมก่อนนอนให้เขาเช่นการเล่านิทาน เป็นต้น
- จินตนาการของเด็กๆ
ยิ่งเป็นเด็กบอกได้เลยว่า จินตนาการล้ำเหลือ เด็กๆ เร่ิมกลัวสิ่งต่างๆ เช่น กลัวผี กลัวการอยู่ตัวคนเดียว กลัวเสียงที่ได้ยินจากที่อื่น จนทำให้เขาไม่กล้าที่จะนอนหลับถีงแม้จะง่วงมากแค่ไหนก็ตาม
ข้อสังเกตเมื่อลูกรู้สึกง่วง
คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกของคุณนั้นคงต้องนอนตอนกลางวันอยู่หรือเปล่า แล้วมีพฤติกรรมให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตยังไงบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
1.ขั้นหงุดหงิด
ขั้นนี้ถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นของความง่วงของเด็กๆ เขามักจะยังห่วงเล่นอยู่คุณแม่ๆ ลองสังเกตดูนะคะ
- บ่นไม่ยอมนอน แต่พอให้นอนก็หลับเป็นชั่วโมงๆ
- เริ่มมีสมาธิกับกิจกรรมต่างๆ น้อยลง
- ตื่นนอนตอนเช้าแบบหงุดหงิดและงัวเงียตลอดวัน
- ช่วงหัวค่ำจะงอแงเป็นพิเศษ
2.ขั้นงัวเงีย
ขั้นนี้ถือได้ว่าร่างกายของลูกต้องการพักผ่อนแล้วนะคะ แต่ว่าเขายังห่วงเล่นอยู่นั้นเอง
- หาว ขยี้ตา เบลอ
- โกรธ อาละวาด ร้องไห้มากผิดปกติ
- เดินหกล้มบ่อย ทรงตัวยาก
3.ขั้นโงกหงุบ
ขั้นนี้ถือว่าหากลูกเริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ควรต้องพาเขาไปงีบด่วนเลยค่ะ
- ลูกบ่นง่วงนอน
- นอนหลับโดยไม่อิดออด
วิธีทำให้ลูกนอนง่ายขึ้น
- นอนให้เป็นเวลา : อย่างตอนกลางวันอากาศร้อนๆ ให้คุณพ่อคุณแม่อาบน้ำให้ลูกสบายตัวก่อน ใส่เสื้อผ้าที่สบาย และอ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนก็ช่วยได้นะคะ
- เลิกทำสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ลูกติด : เช่น ไม่อุ้ม ไม่เขย่า หรือให้กินนม ซึ่งอาจจะยากอยู่บ้างสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ยังไงก็ต้องใจแข็งนะคะ ให้เด็กๆ ได้มีการเรียนรู้และต้องปรับนิสัย แล้วเขาจะค่อยๆ ปรับตัวได้ดีขึ้น
- ค่อยๆ ถอยห่างจากลูกบ้าง : โดยพยายามถอยห่าง ให้ลูกได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองบ้าง ไม่ติดพ่อกับแม่จนมากเกินไป เช่น ขณะที่อยู่ในห้องเดียวกันกับลูก คุณแม่อาจจะนั่งคนละที่กับลูก แต่ยังสามารถเห็นหรือได้ยินเสียงเขาอยู่ ให้เขาได้หัดอยู่คนเดียวบ้าง
- จัดบรรยากาศห้องนอน : ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ นอนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสง เสียง อุณหภูมิในห้องที่เด็กอยู่ และเมื่อเขาหลับไปแล้วไม่ควรย้ายที่นอนไปไหนมาไหน โดยที่เมื่อเขาตื่นขึ้นมาอาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยได้หากเมื่อรู้ว่าตื่นมาแล้วไม่ใช่ที่เดิมค่ะ
- ให้รางวัลหรือคำชื่นชม เมื่อเขาทำสำเร็จ : ซึ่งรางวัลที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ก็ไม่ต้องใหญ่โตอะไรมากมายนะคะ ควรให้รางวัลตามสมควรแก่อายุและความเหมาะสม
- พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องการนอนของเด็ก : ยกตัวอย่างเช่น การให้เด็กเข้านอนและตื่นเป็นเวลารวมทั้งในวันหยุดต่างๆ การจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอน เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : Amarinbabyandkids, พญ.สุริรา เอื้อไพโรจน์กิจ, Haamor, Mamaexpert