ความคิดที่แตกต่างอาจก่อให้เกิดความแตกแยก แล้วถ้าความคิดที่แตกต่างเกิดขึ้นในครอบครัว ครอบครัวต้องแตกแยกไปด้วยรึเปล่า? แน่นอนว่าคนทุกคนย่อมมีความคิดที่แตกต่าง แต่จะทำยังให้ให้เรายังอยู่ด้วยกันแม้จะคิดไม่เหมือนกัน หากเกิดกับคนทั่วไปก็คงปล่อยผ่านได้ แต่ถ้าเรื่องนี้มันกระทบกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่’สำคัญ’ ก็คงปล่อยผ่านไม่ได้ วันนี้เราจึงมีเทคนิคที่ช่วยให้เราเข้าใจกันและกัน อาจเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้สถาบันครอบครัวจะยังเป็นแหล่งพักพิงที่ดีที่สุดแน่นอนค่ะ
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก
สถาบันครอบครัวที่มั่นคง จะเริ่มจากการที่เรากับลูก หรือกับคนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งสามารถสร้างได้ในตอนที่ลูกยังเล็ก โดยเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เกิดจากการให้เงิน ให้ของ ตามใจหรือเอาใจลูก แต่เกิดจากการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ ให้ความอบอุ่นและใกล้ชิดกับเขา ทำให้ลูกรู้สึกเกิดความผูกพันทางอารมณ์ที่จะทำให้เขารู้ว่าพ่อแม่คือพวกเดียวกัน พร้อมยอมรับและสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งในจุดนี้ก็คือหน้าที่ของพ่อแม่เช่นกันที่ต้องทำได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดลมปาก
เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และกล้าที่จะคิด
หากเราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ป้อนข้อมูลหรือสั่งการทุกอย่างในแบบที่เราอยากได้ นั่นคงจะเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่มนุษย์ เพราะคนทุกคนควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้เรียนรู้ หรือมีความคิดที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะเห็นด้วยกับลูก แต่สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือลองดูในสิ่งที่เขาสนใจ หรือเข้าใจความคิดของลูก ไม่ปิดกั้นโอกาสทางความคิด ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมรับฟัง และคุยด้วยได้ทุกเรื่องและทุกมุมมอง
มองหาจุดร่วมทางความคิดที่ตรงกัน
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะส่วนใหญ่การที่คนไม่เข้าใจกันมักเกินขึ้นจากการที่แบ่งซ้ายและขวาอย่างชัดเจน โดยที่ไม่มองหาทางร่วมตรงกลางที่ทำให้เราสามารถเข้าใจหรืออยู่ร่วมกันได้ ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนี้ก็ต้องมีการพูดคุยกันให้มาก ลองถามในสิ่งที่เราสงสัย และตอบในสิ่งที่ลูกถาม ทำตัวเป็นแก้วเปล่าๆ ที่รับข้อมูลจากอีกฝ่าย แล้วมาลองตกผลึกดูว่า จุดสำคัญของความคิดของลูกคืออะไร ถ้าทำได้เราก็อาจจะเจอจุดร่วมทางความคิดที่เรากับลูกหรือคนในครอบครัวมีเหมือนกันก็ได้
เปิดใจให้กว้าง มองสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน
การฟังและการเปิดใจคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เรากับลูกหรือคนในครอบครัว ใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น อย่าเอาแต่ปฏิเสธในสิ่งที่ลูกคิดไม่ตรงกับเรา ลองมองมุมกลับและปรับมุมมอง ให้เราเห็นทุกอย่างรอบด้าน เพราะทุกสิ่งล้วนมีหลายด้านเสมอ ให้ลองมองโลกผ่านสายตาของคนอื่น ก็จะทำให้เราเข้าใจความคิด ความรู้สึกของอีกฝ่ายมากขึ้น มองด้วยสายตาที่ปราศจากอคติ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากพ่อแม่แล้ว หากเราสามารถสอนให้ลูกรู้จักมองหลายๆ มุมได้ สถาบันครอบครัวก็จะแข็งแรงอย่างแน่นอน เพราะทั้งเราและลูกรู้จักที่จะเห็นใจซึ่งกันและกัน
ให้เกียรติและเคารพในความเห็นต่าง
อย่างที่บอกไว้ว่าคนทุกคนย่อมมีความคิดและความรู้สึกที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถบังคับความคิดหรือความรู้สึกของใครได้ สิ่งที่ต้องทำคือให้เกียรติและเคารพความคิดของคนอื่น แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องสอนให้ลูกรู้จักให้เกียรติคนอื่นด้วยเช่นกัน เราอาจห้ามปรามได้หากรู้สึกว่าสิ่งที่ลูกหรือคนในครอบครัวแสดงออกกำลังล้ำเส้นในความรู้สึกหรือความคิดของเรา ด้วยคำพูดที่ไม่รุนแรงหรือประชดประชัน หากทั้งสองฝ่ายสามารถให้เกียรติซึ่งกันและกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
ทำความเข้าใจว่าลูกกับเรา (และคนในครอบครัว) คือคนละคน
เลี้ยงลูกเลี้ยงได้แต่ตัว เราไม่อาจบังคับให้ลูกหรือใครทำหรือคิดเหมือนเราได้ สิ่งที่เราทำได้คือปลูกฝังความผิดชอบชั่วดี ที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่มนุษย์ทุกคนพึงมีเท่านั้น เรายังคิดแบบเดียวกับลูกไม่ได้เลย แล้วจะหวังอะไรให้คนอื่นมาคิดแบบเดียวกับเรา เพราะต่างคนก็ต่างความคิด
เลือกใช้คำที่ไม่เหยียบย่ำหัวใจอีกฝ่าย
วิธีการสื่อสารนั้นสำคัญพอๆ กับสารที่ต้องการจะสื่อ ความแตกแยกจะเกิดขึ้นเมื่อเราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการพูด ในสถานการณ์ที่คนในครอบครัวมีความคิดที่แตกต่างก็อาจมีบ้างที่ต้องการอธิบายความคิดของตนเองด้วยน้ำเสียง หรือคำพูดที่รุนแรง ดังนั้นเราอาจต้องมองให้ลึกว่าคนที่เราคุยด้วยคือคนในครอบครัว ทำไมเราถึงต้องใช้คำพูดเพื่อเหยียบย่ำหัวใจอีกฝ่ายด้วย
สำหรับวิธีการฝึกก็เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างเวลาที่เราพูดกับคนในครอบครัวตอนที่เห็นเขาทำอะไรไม่ถูกใจ ก็พูดดีๆ บอกดีๆ ทำให้เป็นนิสัย และคิดในทางกลับกันว่าถ้าเราโดนพูดไม่ดีใส่ เราเองก็คงรู้สึกไม่ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อเราเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันหนักๆ เมื่อไหร่ เวลาที่คุยกันจะได้คำนึงถึงใจของอีกฝ่ายเสมอ