Parents One

พ่อแม่จะรักลูกทุกคนได้เท่ากันไหม ? เตรียมตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าจะมีลูกอีกคน

แชร์ประสบการณ์ของแม่ลูกสองถึงความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่คุณแม่ไม่เคยพบเจอ ถึงจะเคยมีลูกมาแล้วคนหนึ่ง แต่ครั้งนี้กำลังจะมาเพิ่มอีกหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันคือสิ่งใหม่ของคุณแม่ มาดูกันว่าวิธีการดูแลเด็กสองคนอย่างละมุนละม่อม โดยไม่ให้คนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าคุณแม่รักลูกไม่เท่ากัน นั้นจะบาลานซ์ให้ลงตัวอย่างไรมาดูกันค่ะ

ตอนที่มีลูกคนแรก ไม่ต้องสังสัยว่าเราจะทุ่มเทความรักให้กับเจ้าตัวเล็กได้มากเท่าไหร่ ก็เทหมดหน้าตัก รักหมดใจ ถวายชีวิต อันนี้ใครๆก็คงตอบได้ไม่ยาก แต่พอเข้าสู่ช่วงเวลาของการจะมีคนที่สอง วูบหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในความคิดคือ เราจะเอาความรักที่ไหนไปให้เจ้าตัวน้อยคนใหม่ในท้องนี่นะ ในเมื่อเรามีความรักเท่าไหร่เราซัดไปให้เจ้าพี่ใหญ่จนหมดแล้ว จะแบ่งไปให้ลูกคนนี้ยังไงได้นะ นั่งคิดไปก็เอามือลูบท้องไป คิดได้ดังนั้น เราก็มีดูการเตรียมการกับเรื่องนี้กันค่ะ

เปิดใจต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ครอบครัวของเรา

เมื่อเริ่มตั้งท้องลูกคนที่สอง เราอาจจะยังอยู่ในช่วงรับรู้ความรู้สึกใหม่ๆ ว่าเรากำลังจะมีลูกอีกคน เป็นช่วงเวลาปรับตัว หาข้อมูลของการมีลูกคนที่สอง ซึ่งแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างของลูกทั้งสองคนด้วย ว่าคนโตอายุเท่าไหร่แล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้มากแค่ไหน แรกๆ อาจยังไม่อินนะคะ และลูกคนแรกยังคงเติบโตไปกับเราทุกวัน เราใช้เวลากับเค้าตลอด ซึ่งอาจทำให้เราลืมไปว่า ลูกในท้องเราอีกคนกำลังได้ยินเสียงเราพร่ำสอนพี่ของเค้าอยู่ตลอดเวลา  อย่าลืมหาเวลาลูบท้องคุยกับเจ้าตัวเล็กบ้าง

เตรียมข้าวของเครื่องใช้ใหม่ๆ ไว้ให้ลูกน้อยคนที่สองบ้าง ไม่ใช่ใช้ของพี่ทุกอย่าง

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการมีลูกมากกว่าหนึ่งคน คือความคุ้มค่า เพราะคุณแม่ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้ใหม่ เช่น เตียงนอน รถเข็น เป้อุ้ม คาร์ซีท ฯลฯ อันนี้เห็นด้วยนะคะที่จะได้ประโยชน์เพิ่มจากสิ่งของเหล่านี้ แต่คุณแม่อย่าลืมเตรียมของใหม่ๆ บางอย่างให้คนเล็กด้วยนะคะ เช่น เสื้อผ้า ของใช้เล็กๆ น้อยๆ  ไม่ใช่อะไรก็เอาแต่ของพี่มาให้ใช้ แบบนี้ก็น่าสงสารนะ เด็กเค้ารับรู้ได้นะคะ เค้ามองออกว่าอันไหนใหม่อันไหนใช้แล้ว อีกอย่างคุณแม่ก็จะได้สอนเค้าใช้ถึงการแบ่งปันว่าของสิ่งไหนจะใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดอย่างไร พี่ใช้ น้องใช้ ช่วยแม่ประหยัดเงิน แต่น้องไม่ต้องน้อยใจ เพราะคุณแม่ก็มีของใหม่ๆ ให้หนู สอนให้พี่รู้จักแบ่งปันของที่เคยเป็นของเค้าให้น้องอีกด้วยค่ะ

ช่วงตั้งท้องลูกคนที่สอง คือช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องแนะนำน้องให้พี่รู้จัก

เวลานี้เป็นเวลาที่คุณแม่ควรแนะนำให้พี่น้องได้รู้จักกัน บอกพี่ว่าแม่กำลังมีน้องอยู่เเล้วพาเค้ามาลูบท้อง สัมผัสน้องเบาๆ เล่าให้เค้าฟังว่า ตอนนี้น้องตัวเล็กนิดเดียว เล่าให้ฟังทุกวันๆ ให้เค้ารับรู้ เตรียมใจ สร้างความเป็นพี่ในจิตใจด้วยการยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคุณแม่มีพี่น้อง ก็เล่าให้ฟังว่าแม่ก็มีลุงเป็นพี่ เเละคุณลุงรักแม่มากๆ ดูแลแม่ตลอด ไม่ให้ใครมารังแกแม่ ลูกก็อยากเป็นพี่ที่แสนดีใช่มั้ยคะ เวลาน้องออกมาลูกก็ต้องคอยช่วยดูแลน้องนะลูก  หรือเล่านิทานที่สอนถึงความรักของพี่น้องให้ลูกฟัง และอย่าลืมบอกว่าเมื่อน้องเกิดมา ลูกจะไม่ใช่เด็กคนเดียวในบ้านอีกแล้วนะ แต่ลูกจะมีน้องมาเป็นเพื่อนเล่น ทุกๆ คนจะรักน้องเหมือนที่รักลูก  ลูกต้องแบ่งของให้น้อง แล้วสอนน้องให้เป็นเด็กดีเหมือนลูกนะคะ

สร้างข้อกำหนดของสมาชิกภายในบ้าน คำไหนห้ามพูด ประโยคไหนห้ามแตะ

บางทีมันก็ต้องมีเเนวทางร่วมกันระหว่างสมาชิกทุกคนในบ้าน ว่าถ้าคนน้องเกิดมาเมื่อไหร่ มีประโยคที่ห้ามพูดเด็ดขาด เช่น เดี๋ยวน้องออกมาพี่ก็เป็นหมาหัวเน่าแล้ว เค้าไปรักน้องกันหมดแล้ว ดื้อแบบนี้ไม่มีคนรักหรอกเค้าไปรักน้องดีกว่า น้องไม่ดื้อเลย หรือเปรียบเทียบน้องกับพี่ตลอดเวลา น้องน่ารักกว่าแบบนั้นแบบนี้ แม้กระทั่งสนใจในตัวน้องมากกว่า  ก็ขอร้องว่าอย่าให้มีนะคะ เพราะจะทำให้พี่สับสนในจิตใจมาก ใจหนึ่งก็ดีใจที่จะมีน้องมาเล่นด้วย ใจหนึ่งก็รู้สึกสูญเสียความเอาใจใส่จากแม่ จากที่เมื่อก่อนแม่เคยดูแลเราคนเดียว ช่วงแรกนี่จะเปราะบางมากๆ ดังนั้นคุณแม่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้ดีเลยค่ะ  ถ้าวางรากฐานช่วงแรกไว้ดี ช่วงต่อไปก็ปรับตัวได้เร็วขึ้น

แบ่งเวลาที่ให้กับทั้งสองคน พยายามบาลานซ์ให้มากที่สุด

พอเจ้าจิ๋วออกมาแล้วทีนี้ก็หฤหรรษ์ค่ะแม่  เพราะช่วงแรกน้องยังเล็ก แม่ก็เเค่ดูแลตามปกติ แต่คนที่ควรจะแคร์สุดๆ คือคนพี่ที่โตพอจะเข้าใจ เเละน้อยใจเป็นแล้ว ซึ่งช่วงแรกนี้คุณแม่ต้องให้ความสำคัญและสนใจคนพี่เป็นอย่างมากนะคะ  อย่าให้เค้ารู้สึกว่าโดนโดดเดี่ยวและได้รับความรักและความสนใจจากคนรอบข้างลดน้อยลงเค้าจะเกิดอาการน้อยอกน้อยใจ จนพาลไปถึงการรังแกน้องด้วยค่ะ  ช่วงแรกคุณแม่จะต้องอดทนมาก ทำซ้ำๆ พูดซ้ำๆ จนกว่าจะซึมเข้าไป เช่น แม่ต้องให้น้องกินนมแม่นะคะเพราะน้องยังกินอะไรไม่ได้เลยน้องกินนมแม่ได้อย่างเดียว ซึ่งพูดครั้งเดียวอาจไม่เข้าใจต้องพูดบ่อยๆ ทำจนกว่าพี่ใหญ่จะเข้าใจและยอมรับว่าตนเองกำลังเป็นพี่และเจ้าจิ๋วนั่นคือน้องของเรา สำคัญที่สุดคือคุณแม่ต้องแสดงความรักกับเค้าเหมือนเดิม เผลอๆ อาจต้องมากขึ้นอีกด้วย เพราะระยะเวลาการยอมรับน้องของแต่ละคนไม่เท่ากัน เหมือนเด็กน้อยที่บ้านที่ตอนนี้รักน้องน่าดู เพราะน้องคือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดลองจากแม่เลยค่ะ

เจ้าตัวจิ๋ว น้องใหม่ที่ถูกทอดทิ้งบางเวลา แม่จ๋าอย่าลืมสอนหนูนะ

ในช่วงที่น้องออกมาใหม่ๆ เราต้องคอยดูแลพี่ตลอดเวลา เพราะพี่อยู่ในวัยที่แม่จะต้องให้ความสนใจ ให้เวลาในการร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดรูป เล่นเกมส์ ทำแป้งโดว์ อ่านหนังสือ สอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ใช้เวลาทำให้แม่ต้องดูแลพี่ตลอด จนหลายครั้งก็ลืมการสอนน้อง ตัวน้องอาจมีพัฒนาการด้านร่างกายไวกว่าพี่ เพราะน้องมีพี่เป็นต้นแบบให้ นั่ง เดิน พูดตาม เเละยังกินข้าวได้เองตั้งแต่ยังเล็ก บวกกับคุณเเม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาการลูกในระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องการทุ่มเทเวลาในเรื่องการสอนเรื่องต่างๆ แก่ลูกนั้น ลูกคนที่สองจะถูกละเลยไป เช่น ลูกคนแรก เราตั้งใจสอนเค้าท่อง A-Z ก – ฮ แบบเอาใจใส่อย่างที่สุด เตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอนครบครัน จนลูกคนแรกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดี พอมาถึงลูกคนที่สองก็สอนเท่าที่มีเวลา อุปกรณ์ก็ของพี่ไงที่มันครบบ้างไม่ครบบ้าง เลยรู้สึกว่าเเกิดสงสารเจ้าตัวเล็กขึ้นมา เเละพยายามให้เวลากับน้องมากขึ้น พยายามดึงน้องมาทำกิจกรรมร่วมกับพี่

จริงๆ พอเราปรับตัวปรับใจของเราเเละจัดการชีวิตแม่ พี่ชาย น้องสาว ได้ลงตัวแล้ว เราจะรู้สึกว่า เรื่องนี้เเค่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอเมาก่อน เมื่อผ่านการปรับตัวเราจะพบว่าเราก็ทำได้และไม่ต้องห่วงนะคะ จากเดิมที่แม่ลูกหนึ่งเคยคิดว่า ชั้นจะไปรักเด็กอีกคนได้ยังไง เมื่อเจ้าเด็กคนพี่เอาใจแม่ไปหมดแล้ว  เมื่อถึงเวลาที่เน้องมาความรักมาเริ่มมาเรื่อยๆ แบบคุณแม่ไม่รู้ตัว รู้อีกทีนี่ชั้นรักเจ้าตัวน้อยนี่ไม่ต่างจากเจ้าตัวโตนั่นเลย ความรักที่ชั้นเคยมีให้ลูกคนโตมันไม่ได้ถูกแบ่งมานะ แต่ชั้นสร้างความรักเพิ่มขึ้นมาได้ต่างหาก คนเป็นแม่ช่างมีใจที่ยิ่งใหญ่ และมีความรักที่สร้างให้ลูกได้ไม่มีวันหมดจริงๆ

บทความร่วมกับเพจ @โอ้มาย…ลูก