เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอโดยที่เราเองก็ไม่ทันได้ระวังว่าจะใก้ลตัวขนาดนี้
อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้นั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก จะเอาตนเองให้รอดยังว่ายาก และยิ่งหากเรามีลูกน้อยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่เลยที่จะปกป้องเขาได้ในวันที่เกิดเรื่องขึ้น ฉะนั้นเมื่อลูกเริ่มสื่อสารกับเราได้ 2 ทาง ทั้งการสื่อสารและรับสาร การสอนให้รู้ถึงสิ่งสำคัญที่ต้องทำเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้น ว่าสิ่งที่ลูกต้องจำให้ขึ้นในเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้น มาช่วยกันสอน และจดจำไปพร้อมๆ กันนะคะ ว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้น หัวใจหลักที่ลูกต้องรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองมีอะไรบ้าง
119, 199 จำเบอร์ให้ขึ้นใจ
บอกลูกเสมอว่าเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ในบ้าน ต้องรีบใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อเบอร์ 119 หรือ 199 ในทันที รวมไปถึงสอนให้ลูกสามารถจดจำเลขที่บ้าน ซอย หรือหมู่บ้านที่อยู่ได้ รวมไปถึงเบอร์โทรสำหรับการติดต่อกลับ เพราะหากลูกสามารถบอกทุกอย่างได้อย่างแม่นยำ หรือชัดเจนก็จะมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากขึ้น
เช็กความร้อน ด้วยลูกบิดประตู
เวลาต้องการไปห้องถัดไป หากเราเปิดประตูออกไปเลยก็อาจเจอกับไฟที่ไหม้อยู่ด้านนอก หรืออาจถูกควันโพยพุ่งเข้ามาจนทำให้หมดสติ เราจึงต้องสอนให้ลูกระวังตัวก่อนจะเปิดประตู ด้วยการลองแตะที่ตัวลูกบิดของประตู หรือตัวจับเปิดของบานประตูดู หากลูกบิดไม่ร้อน ก็สามารถเปิดออกไปได้ แต่หากแตะแล้วรู้สึกว่าร้อน ก็ต้องรีบถอยห่างออกมาเพราะอาจมีเพลิงรออยู่อีกฝั่ง
ผ้าชุบน้ำคือฮีโร่ที่จะปกป้องลูก
สิ่งสำคัญที่สุดที่ลูกของเราจำเป้นต้องใช้มากที่สุด คือผ้า, น้ำสะอาดที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในวิกฤตไฟไหม้ เพราะเมื่อมีไฟก็ย่อมทำให้เกิดควัน อาจทำให้ลูกสำลักหรือหมดสติไปได้ในระหว่างรอความช่วยเหลือ ดังนั้น การสอนให้ลูกใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด ปิดปากและจมูกไว้เพื่อช่วยให้ยังสามารถหายใจต่อได้โดยไม่สำลักควัน และหากมีผ้าผืนใหญ่ ก็นำมาชุบน้ำ และสามารถห่อหุ้มหรือปกป้องร่างกายตัวเองเอาไว้ได้ เพื่อป้องกันความร้อน และการติดไฟตามร่างกาย
คลาน, หมอบลงต่ำเสมอ
เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาจทำให้ลูกตกใจ วิ่งไปมา หรือพยายามหาทางออกซึ่งในจังหวะนั้นอาจทำให้ลูกได้สูดควันไฟเข้าไปมาก หรืออาจเกิดอุบัติเหตุอื่นที่ไม่คาดฝันอย่างหกล้ม รึข้าวของร่วงหล่นลงมาทับ จึงต้องสอนให้ลูกหมอบต่ำ หรือใช้วิธีคลานเอาในการพยายามไปในที่ต่างๆ ภายในบ้านที่เกิดเหตุเพื่อลดความเสี่ยง และการหมดสติไปโดยไม่รู้ตัวเพราะควันไฟ
ไฟติด กลิ้งทันที ไม่ให้ไฟลาม
อีกหนึ่งความน่ากลัวคือร่างกายติดไฟ แน่นอนว่าเด็กเล็กนั้นมักจะตกใจจนทำอะไรไม่ถูก สิ่งที่เราต้องสอนเขาไว้ให้มั่นเลยคือ ต้องมีสติ เมื่อถูกไฟติดตามร่างกายไม่ว่าจะเสื้อผ้า หรือผิวหนัง รีบทิ้งตัวลงกลิ้งกับพื้นทันทีเพื่อระงับการลุกลามของไฟ เพราะหากยิงตกใจ ยิ่งขยับยิ่งวิ่ง ก้จะทำให้ตัวไฟลามใหญ่โตจนอาจทำให้เกิดอันตรายมากกว่าการถูกไฟลวกแค่บางจุด หรือหากมีผ้าสะอาดชุบน้ำอยู่ก็รีบนำมาคลุม หรือห่มทันทีเพื่อหยุดการลามของไฟที่ติด
ประตูอยู่หนใด ให้ไปทางนั้น
อีกหนึ่งทางที่เราสามารถสอนได้ง่ายที่สุดหรือทำตามได้ง่ายที่สุดคือการมองหาทางในการออกไปจากอันตราย อย่างประตูทางออกต่างๆ เช่น หน้าตาของประตูฉุกเฉินตามสถานที่ต่างๆ ว่ามีหน้าตาอย่างไร หรือหากเป็นภายในบ้าน ต้องฝึกให้ลูกรู้เสมอว่าประตูไหนของบ้านที่สามรถหนีออกไปได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้า, หลังของบ้าน และให้ลูกใช้เส้นทางในการออกไปได้อย่างคล่องแคล่ว
และไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการที่ไม่เกิดอัคคีภัยขึ้นจริงๆ ค่ะซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องของความไม่ประมาท และ หมั่นเช็คข้าวของภายในบ้านอยู่เสมอเพื่อให้โอกาสที่จะเกิดเหตุนั้นเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด และสำหรับวิธีการนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป เพียงเรา
- เช็ควาล์วแก๊สทุกครั้งหลังใช้
- ถอดปลั๊กไฟออกหลังใช้ หรือก่อนเข้านอน
- ติดตั้งสัญญาณเตือนไฟไหม้, ติดตั้ง Sprinkler (หัวกระจายน้ำดับเพลิงแบบอัตโนมัติ)
- มีไฟฉาย, ผ้าสะอาด และขวดน้ำไว้ในห้องเสมอ
- เมมเบอร์ 119 , 199 ไว้ติดเครื่อง
อ้างอิงจาก amarinbabyandkids , aboutmom , exam.karn.tv