เราคงได้ยินกันบ่อยที่มีคนชอบบอกว่าพอเรามีลูก เราจะยอมเปลี่ยนตัวเองทุกอย่างได้เพื่อเขา ไม่ว่าจะเป็นการเลิกสูบบุหรี่, เลิกไปไหนมาไหนไกลๆ, เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตหรืออาชีพ ทุกอย่างนั้นก็ทำเพื่อลูกของเรา แต่นอกจากเรื่องใหญ่อย่างสุขภาพและการใช้ชีวิตแล้ว การปรับตัวเพื่อพัฒนาการของลูกเองก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
และสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เราปรับพฤติกรรม, ความคิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งจะต้องปรับอย่างไร สามารถทำได้จริงหรือไม่ มาลองดูไปด้วยกันได้เลยครับ
การพูดให้ช้าลง และชัดขึ้น
การสื่อสารกับลูกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดเพราะยิ่งเราพูดคุยกับลูกได้อย่างชัดเจน เขาก็จะยิ่งเข้าใจ และสามารถโต้ตอบกลับมาได้ ฉะนั้นการปรับตัวแรกที่เราสามารถเริ่มได้ง่ายๆ เลยก็คือการปรับการพูดให้ช้า และชัดขึ้น เพราะการพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ จะช่วยฝึกการพูดของลูกให้มีพัฒนาการที่เป็นลำดับ ลูกจะเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ ได้ดีขึ้น และยังทำให้เขาเรียนรู้การต่อคำให้กลายเป็นประโยคได้อีกด้วย
ให้ลูกได้เลอะสุดๆ ก่อนการอาบน้ำ
พอเราเป็นผู้ใหญ่ บางทีเห็นชุดเปื้อนนิดหน่อย หรือมือเท้าของลูกไม่สะอาด เราก็มักจะรีบให้เขาอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และรีบล้างมันเลยเดี๋ยวนั้น แต่อย่าลืมว่า เด็กๆ น่ะต้องอยู่กับการเล่น เขาพร้อมจะสนุก และออกไปตะลุยกับน้ำ และดินทรายตลอดเวลา และทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะงั้นในวันที่เขาอยากเลอะเทอะ เราก้ต้องให้โอกาสเขาสนุกให้เต็มที่ ซึ่งหลังการเล่นแล้วเราก็ต้องมีกฏเกณฑ์ที่จะใช้กับการเล่นนี้คือ เมื่อถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ก็จะหมดเวลาเล่น ไม่มีการเล่นเลอะเทอะ หรือสัมผัสกับความสกปรกใดๆ อีก
เชื่อเถอะว่านอกจากการที่ลูกจะได้สนุกจนเต็มอิ่มทั้งวันแล้ว พ่อแม่แบบเราก็จะได้ไม่ต้องซักเสื้อผ้าหรือจับลูกเราอาบน้ำบ่อยๆ ด้วยค่ะ
โวยวายให้น้อย ใช้เหตุผลให้เยอะ
เวลาอยู่กับลูกเรามักจะเผลอเป็นตัวเองในเรื่องง่ายๆ ที่คิดว่าไม่เป็นไร แต่ในความจริงแล้วการที่เราทำหรือพูดอะไรที่อยู่ในสายตาของลูกก็เหมือนเป็นการสอนเขาไปโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น เผลอสบถคำหยาบออกมาอย่างไม่ตั้งใจ หรือใช้ประโยคพูดที่ชินปากผู้ใหญ่แต่ไม่น่ารักสำหรับเด็ก อาทิ
แซวเล่นกวนๆ กับเพื่อนเพียงครั้งเดียว ลูกจะพูดกวนเราแบบนั้นไปอีกทั้งวัน
ตะโกนด่าคนอื่นตอนขับรถ และลูกเลียนแบบคำด่านั้นจนกลายเป็นคำชินปาก
ดังนั้นเราจึงควรใช้เหตุผลให้มาก ก่อนจะทำอะไรต่อหน้าลูกต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่ามันจะส่งผลต่อการจดจำของเขาหรือไม่ และลดการโวยวายหรือสบถที่ไม่จำเป็นออกไป
ไม่เปรียบเทียบว่าการมีลูก ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร
บางครั้งเราเองก็ชอบนึกถึงวันวานว่า ก่อนเราจะมีลูก หุ่นเราเคยสวยแค่ไหน เราเคยมีเวลาดูแลตัวเองขนาดไหน หรือแม้แต่เวลาที่มีให้กับสิ่งที่อยากทำก็มีเยอะกว่าตอนที่เรามีลูก รึรวมไปถึงการเห็นลูกบ้านอื่นเป็นอย่างไร แล้วรู้สึกอิจฉา ทำไมลูกฉันไม่เป็นแบบนี้บ้างนะ ถ้าลูกเราได้ซักครึ่งของลูกบ้านนั้นก็ดี หากมีความคิดแบบนี้ และส่งไปถึงตัวเด็ก คงไม่ใช่เรื่องดีแม้แต่นอย
เราสามารถเก็บไว้ในใจได้โดยไม่พูดให้เขาได้ยิน หรือให้ลูกรับรู้โดยตรงเพราะเขาสัมผัสได้ด้วยน้ำเสียง และสายตาว่าพ่อแม่ของเขา รู้สึกอย่างไร หากเป็นเช่นนั้น ลูกอาจรู้สึกตัวเองไม่มีค่า ไม่เป็นที่รักของคนที่เขารัก ส่งผลให้พัฒนาการของลูกถดถอย ไม่ยอมเติบโต และอาจรวมไปถึงนิสัยของลูกที่กลายเป็นเด็กเก็บตัว มีอะไรก็ไม่ยอมพูดคุยกับพ่อแม่
ดังนั้น ควรใช้ความเข้าใจ และยอมรับทุกตัวตนที่ลูกเรา และตัวเราเป็น
มีของรักของหวง ต้องรักษาให้ไกลมือลูก
พ่อแม่คนไหนก็ต้องเคยเจอลูกเอาลิปสติกของแม่ไปเล่น หรือถล่มกันดั๊มของพ่อซะไม่เหลือเค้าเดิม แต่ก่อนเราจะโทษเขา เราอาจต้องมาดูที่ตนเองก่อนว่าเราเก็บของดีแล้วหรือยัง วางไว้ในจุดล่อตาล่อใจลูกหรือเปล่า เพราะว่าเด็กนั้น เห็นอะไรก็รู้สึกว่ามันเป็นของเล่นเขาได้ ทั้งหมด ทำให้การห้ามว่าอย่าแตะ หรือของชิ้นนี้เป็นของพ่อ ของแม่ ห้ามยุ่งนะ ในวัยที่ลูกยังเล็กเกินเข้าใจ มันอาจไม่ได้ผล และสุดท้ายก็มีแต่เราที่หัวเสีย
เพราะงั้น การเก็บให้พ้นสายตาลูก หรือให้อยู่ในที่ที่ไม่สามารถเอื้อมถึงได้จึงถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากช่วยให้สิ่งของที่เรารักปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ต้องมีเรื่องผิดใจกับลูกอีกด้วย