วิธีพูดกับลูกเพื่อให้ลูกทำตามสิ่งที่เราบอกหรือต้องการให้ทำตาม ควรสอนตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพื่อสร้างวินัยและเติมเต็มศักยภาพในตัวเองให้กับเด็ก ซึ่งการพูดต้องเป็นการพูดแบบไม่ทำร้ายจิตใจเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพูดเพื่อให้ลูกยอมไปโรงเรียน หยุดดูยูทูป เลิกเล่นมือถือ แท็บเล็ต การบอกให้ลูกยอมเก็บของเล่น หรือแม้แต่การบอกให้ลูกยอมกินผัก ซึ่งการจะทำให้เขาร่วมมือและยอมทำตามคุณพ่อคุณแม่ด้วยความเต็มใจนั้นมีวิธีอยู่ค่ะ ไปดูกันเลยว่าจะมีวิธีอะไรบ้าง
1. ใช้คำพูดเชิงบวก
พูดกับลูกเชิงบวกทุกวัน เพื่อให้คำพูดเหล่านั้นประทับเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกของลูก ระวังคำพูดในเชิงลบ เช่น “อย่าทำแบบนี้อีกนะ” แต่ให้พูดในเชิงบวกว่า “แม่เป็นห่วงลูกกลัวลูกจะเป็นอันตราย” หรืออย่าพูดในลักษณะต่อว่าดุด่า เช่น “อย่าดื้อได้ไหม” แต่ลองเปลี่ยนเป็น “เป็นเด็กดีนะลูก” มีหลายประโยคมากมายที่พ่อแม่สามารถนำมาใช้เป็นคำพูดบวกแทนคำพูดลบ เพราะวิธีการพูดที่แตกต่างกัน มันให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากมายค่ะ
2. ชี้แนะวิธีแก้ไข
โดยเสนอทางเลือกให้กับเด็ก เช่น “เราต้องเช็ดพื้นครัวกัน ลูกอยากจะใช้ผ้าเช็ด หรือ ใช้ไม้ม๊อบถูพื้น” หรือ “ลูกเป็นคนเลือกนะ ว่าอยากจะเล่นชิงช้าต่ออีกสามนาที หรือ ห้านาที”
3. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
ลูก
4. สังเกตุการแสดงออก
สนใจในสิ่งที่ลูกแสดงออกมา เด็กบางคนพูดไม่เก่ง สิ่งที่ทำได้คือการแสดงออกทางสีหน้าหรือท่าทาง พ่อแม่ต้องคอยจับสังเกตนั่นให้ได้ แล้วดูว่าลูกเราต้องการจะสื่อสารอะไร อาจจะถามซ้ำๆ ว่าลูกจะบอกแม่แบบนี้ใช่ไหม ยืนยันในสิ่งที่เขาทำ มากกว่าที่จะบ่นว่าลูกพูดอะไรแม่ไม่รู้เรื่องเลย พูดให้มันดีๆ หน่อย หรือไม่สนใจเลย พอเป็นแบบนั้นไปนาน ลูกก็เริ่มไม่อยากจะบอกพ่อกับแม่ล่ะ เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจลูกนั่นเอง
5. พูดกับลูกด้วยความรัก
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่โมโหเมื่อลูกทำผิด หรือเรียกแล้วลูกไม่สนใจ พ่อแม่มักจะตะคอกแล้วต่อด้วยการด่าทอเสียงดัง ไม่ฟังที่ลูกพูด ทำให้เด็กไม่อยากจะบอก เพราะพูดไปพ่อแม่ก็ดุอยู่ดี สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ต้องเริ่มจากการเรียกชื่อให้เขาสนใจก่อน จากนั้นก็พูดด้วยคำง่ายๆ ถามให้แน่ใจว่าลูกทำอะไร ให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำลงไปด้วย อย่าเพิ่งว่าลูก ให้ลูกได้สำนึกผิดจะดีกว่า การพูดแรงๆ ถึงแม้จะทำให้ลูกสงบลงได้ แต่อาจเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ในอนาคตลูกก็จะทำอีกเหมือนเดิม
6. พูดด้วยคำพูดสั้นๆ
พูดด้วยคำพูดสั้นๆ ตรงไปตรงมา สั้น ง่าย เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการของเด็ก การพูดด้วยคำพูดสั้นๆ ไม่บ่นพร่ำเพ้อ และหลีกเลี่ยงคำว่า “ห้าม! หรือ อย่า!” แต่ให้ใช้คำพูดเช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าลงไปเดินบนถนนซิคะ เดี๋ยวก็โดนรถชนหรอก” ให้เปลี่ยนเป็น “ขึ้นมาเดินบนทางเท้านะ เพื่อความปลอดภัย” เป็นต้น
7. ให้ข้อมูลกับลูก
เด็กๆ มักจะรับฟังข้อมูลความรู้ใหม่ๆ โดยอย่าลืมว่า คำอธิบายของคุณ ต้องเหมาะสมกับวัยนะคะ เช่น “ถ้านมหกเลอะเทอะอยู่ที่พื้นครัว แล้วมีใครมาเหยียบเข้า อาจจะลื่นล้มได้” หรือ “ชิงช้ามีอยู่ตัวเดียว แต่มีเด็กอยากเล่นสองคน” เมื่อคุณแม่พูดเพียงแค่นี้ เด็กก็อาจจะเริ่มคล้อยตาม และมีความเข้าใจมากขึ้นค่ะ
เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่นั้น ควรมองให้ไกล เป็นเป้าหมายระยะยาว คือ ในวันข้างหน้า เราคงอยากเห็นลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ มีวินัยในตัวเอง มีความพึงพอใจในตัวเอง รู้สึกดีต่อตัวเอง รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีจริยธรรม มีคุณธรรม สามารถเลือกประพฤติตัว ปฏิบัติตัว เมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้าเรามีวิธีพูด ฝึกฝนและสอนให้ลูกรู้จักคิดเองตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ด้วยตนเอง ไม่เพียงแต่รอรับคำสั่งจากคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นค่ะ
ที่มา – helendoronrama9.com