Parents One

ปรึกษาก่อนแต่งงาน ลดปัญหาหลังสมรส

 

“การปรึกษาก่อนแต่งงาน” ดูเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับในบ้านเรา ซึ่งส่วนใหญ่ของการปรึกษากันในครอบครัว มักเป็นเรื่องการเตรียมการเรื่องงานแต่งมากกว่า แต่การปรึกษาก่อนสมรสเป็นการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา เพื่อเตรียมความเข้าใจกับสถานการณ์ที่รออยู่หลังแต่ง ทั้งสองฝ่ายมีรูปแบบการแสดงออกอย่างไร เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังแต่งงาน ควรจะทำอย่างไรและต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มาดูคำแนะนำจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกันค่ะ

1. การปรึกษาทางการแพทย์

การปรึกษาทางการแพทย์ โรคบางโรคอาจจะทำให้รู้สึกลำบากใจ ในการที่จะใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน ถ้าได้ตรวจก่อน ได้ทำการรักษาก่อน เพราะโรคหลายๆ โรครักษาให้หายได้ หรือถ้าเป็นโรคบางโรครักษาไม่ได้ ก็อาจจะมีข้อแนะนำจากแพทย์ในเรื่องการดูแล แก้ไข หรือการป้องกันอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายท่านอาจจะพลาดไปโดยที่ไม่รู้ตัว หรือโรคทางพันธุกรรม อาจจะไม่ใช่เป็นข้อกำหนดชัดเจนว่า ถ้ามีโรคทางกรรมพันธุ์อย่างนี้แล้ว จะไม่แต่งงานกัน เพียงแต่ว่าหลายๆ โรคควรจะทำการป้องกันหรือรักษาก่อน การตรวจทางการแพทย์นั้นไม่ใช่เพื่อเป็นการจับผิด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เป็นข้อกำหนดที่จะไม่แต่งงานกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นการช่วยให้การแต่งงานมีความปลอดภัยมากขึ้นมากกว่าค่ะ

2. การปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ

การให้คำปรึกษาเรื่อสภาพจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการแต่งงานเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งสำคัญ คนสองคนจะต้องมาปรับตัวเข้าหากัน ต้องมาอยู่ร่วมกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดเวลามากกว่าตอนที่เป็นแฟนกัน ตอนที่เป็นแฟนกันบางครั้งด้วยความรักทำให้มองไม่เห็นปัญหาบางอย่าง ที่ไม่ได้เปิดเผยหรือว่าไม่ได้แสดงออกมา พอแต่งงานกันทำให้มีปัญหาในภายหลัง เพราะฉะนั้นการให้คำปรึกษาก่อนสมรส ก็มักจะเป็นการศึกษากันอย่างเปิดเผย โดยผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นคนนอกมองเข้าไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองคน ชี้แนะให้เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความคิด มีความรู้สึก มีแนวคิด มีความเห็นอย่างไรต่อกัน และเมื่อต่างฝ่ายต่างได้ศึกษากันอย่างเปิดเผย แล้วมองเห็นกันและกันด้วยความชัดเจนขึ้น ผู้ให้คำปรึกษาก็จะให้คำแนะนำต่อไปในการที่เราจะปรับตัวเข้าหากัน ในข้อที่อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง หรือให้คำแนะนำในเรื่องลดความขัดแย้ง

3. การปรึกษาเรื่องการสื่อสาร

วิธีการลดความขัดแย้งที่สำคัญที่ต้องฝึกก่อนจะแต่งงานกันเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยวิเคราะห์เรื่องการสื่อสารว่า มีแนวโน้มที่จะสื่อสารกันอย่างไรเวลาที่อยู่ด้วยกัน แนวโน้มที่จะสื่อสารกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้น การสื่อสารใดที่อาจจะทำให้เกิดปัญหา เราอาจจะได้เห็นตัวเราชัดขึ้นว่า หลายครั้งเราเป็นคนชอบต่อว่าเขา เราเป็นฝ่ายตำหนิเขา เราคอยสั่งเขา เพราะตอนที่เป็นแฟนกันเขาก็อาจจะยอมให้เราตำหนิ ยอมให้เราต่อว่า ชี้นำเขาทุกอย่าง แต่เมื่อแต่งงานกันไปแล้ว มันอาจไม่เหมือนอย่างตอนที่เป็นแฟนกัน เขาอาจจะเริ่มลุกขึ้นมาไม่ฟังคำตำหนิ อาจจะตำหนิเรากลับมาด้วย เราอาจจะรับไม่ได้ และอาจจะเกิดปัญหามากขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกเรื่องการสื่อสารเสียตั้งแต่ก่อนแต่งงาน จะช่วยให้ชีวิตหลังแต่งงานมีความสุขมากขึ้น เรื่องของการสื่อสารที่ดีนี้ ความจริงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ด้วยความที่พูดอยู่ทุกวัน อาจจะไม่ค่อยได้วิเคราะห์ตัวเองว่ามีปัญหาในเรื่องการสื่อสารอย่างไรบ้าง ซึ่งปัญหาของการสื่อสารมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1. ความตรงของการสื่อสาร

– หลายคนไม่ค่อยกล้าพูดตรงๆ ไม่พูดกัน โดยเฉพาะตอนที่เป็นแฟนก็มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจหลายเรื่อง แต่ไม่กล้าจะพูดกันตรงๆ เก็บคำพูดไว้เพื่อรักษาน้ำใจ เพราะหวังว่าแต่งงานไปแล้วคงจะดีขึ้น แต่งงานไปแล้วจะเข้าใจกันมากขึ้น เป็นข้อที่ควรระวังอย่างมาก ควรปรับความไม่เข้าใจในความเห็นที่ไม่เข้าใจกันก่อนที่จะแต่งงาน เพราะจริงๆ พอแต่งงานกันไปแล้ว การแต่งงานอาจช่วยแก้ปัญหาได้แค่เรื่องบางเรื่องเท่านั้น บางปัญหาอาจรุนแรงขึ้นเมื่อแต่งงานกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากพูด อยากบอกอะไรก็ให้พูดกันตรงๆ กับเจ้าตัวเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ไม่มีปัญหาในภายหลัง

– ในขณะเดียวกันต้องฝึกเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย เวลาที่เขาพูดกับเราตรงๆ ก็ควรฟังเหตุผลและยอมรับความรู้สึกตรงนี้บ้าง เพราะว่าเขาอาจจะไม่ได้ชอบเราทั้งหมด ซึ่งเราก็อาจไม่ได้ชอบเขาทั้งหมดเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะรับกันได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ

2. เนื้อหาในการสื่อสาร 

หลายครั้งสื่อเนื้อหาที่ไม่ตรงกัน ไม่พูดว่าต้องการอะไร หรือไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกหลายๆ อย่างได้ การเก็บความรู้สึกไว้ จะเป็นการเก็บกดตัวเองไปตลอดชีวิตแต่งงาน จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปรู้สึกว่าเราไม่เหมาะกันเลย ความเห็นหรือทัศนคติที่ไม่ตรงกันไม่ได้เกิดมาหลังแต่งงาน แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารเนื้อหาที่ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะสื่อความรู้สึกความคิดเห็นที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา อีกฝ่ายหนึ่งก็ฝึกที่จะรับความรู้สึกความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ทั้งทางบวกและทางลบของอีกฝ่าย การฝึกการตอบสนองกันในการสื่อสารที่เหมาะสมตรงไปตรงมา จะทำให้มีความพร้อมมากขึ้นในการที่จะเข้าสู่ชีวิตสมรส

การปรึกษาก่อนสมรสเป็นการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา เพื่อเตรียมความเข้าใจกับสถานการณ์ที่รออยู่หลังแต่ง เป็นการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเตรียมรับมือไว้ก่อน แม้ว่าจะมาจากครอบครัวและมีวิถีชีวิตที่ต่างกัน ก็จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาชีวิตหลังแต่งงานได้ ถ้ามีการเตรียมความพร้อม การรับคำปรึกษาจึงเป็นแนวทางเลือกที่จะช่วยลดปัญหาการใช้ชีวิตคู่หลังแต่งงานได้ค่ะ

ที่มา – พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น