ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนอบอ้าวแล้วค่ะ เห็นว่าปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าอากาศร้อนๆ ย่อมทำให้คนอ่อนเพลียง่าย และถ้าอยู่กลางแจ้งนานๆ อาจทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) ได้ ยิ่งในเด็กด้วยแล้วยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ วันนี้เราเลยจะพารับมือกับโรคนี้กันค่ะ
อาการ
ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป แต่กลับไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังและหน้าแดงเพราะอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น รวมไปถึงผิวหนังจะแห้งและร้อน หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวิงเวียน ปวดหัวตุบๆ คลื่นไส้ สับสน พูดไม่ชัดเจน อาจถึงขั้นชักและโคม่าได้
สาเหตุ
ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่สัมผัสกับอากาศร้อน แต่เกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ
วิธีดูแล
- ที่สำคัญคือต้องลดอุณหภูมิภายในร่างกาย พยายามทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงมาที่ประมาณ 38.3-38.8 องศาเซลเซียส
- พาเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ ขาหนีบ เพราะบริเวณนั้นมีเส้นเลือดที่ใกล้กับชั้นผิวหนังเป็นจำนวนมาก
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีอากาศร้อนและชื้น
- สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา สามารถระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ ถ้าต้องอยู่กลางแจ้งให้ดื่มน้ำมากๆ คอยจิบตลอด
- ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ วางไว้ที่คอ
- อย่าให้เด็กอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้
ข้อมูลอ้างอิง