Parents One

สิ่งที่คุณแม่ๆ เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรคภูมิแพ้ ”

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก โรคยอดฮิตที่เด็กๆไทย ชอบเป็นได้แก่ ภูมิแพ้อากศ ภูมิแพ้หอบหืด และภูมิแพ้อาหาร และพบได้ตั้งแต่วัยแรกเกิด หรือบางทีก็พบในระยะหลังๆ เมื่อโตมาแล้วช่วงหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีผื่นขึ้นตามตัว เป็นๆ หายๆ ปัจจุบันก็มีการตรวจและการรักษาที่มากมายที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะพอทราบๆกันบ้าง  แต่ก็ยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเจ้าโรคภูมิแพ้นี้

ซึ่งทางเราได้มีโอกาสไป พูดคุยกับ พญ. พลาณี วัฒนาสุรกิตต์  กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้ จาก โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช และท่านได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้และความเข้าใจผิดนี้อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายเด็กๆได้ด้วย เรามาดูกันสิว่า ที่เราเข้าใจผิดๆ และทำต่อๆ กันมา มีอะไรบ้าง หากยังทำอยู่จะเป็นอัตรายกับเด็กๆ มากน้อยแค่ไหน มาดูกันเลยยยยย

1.แพ้นมวัว เปลี่ยนมากินนมแพะ

ในความเป็นจริงแล้วแพะกับวัวเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน น้ำนมที่ได้ก็มีลักษณะที่คล้ายกันมากๆ เลย คนที่แพ้นมวัวก็อาจจะแพ้นมแพะด้วยเช่นกัน  เนื่องจากมีโปรตีนหลายตัวที่เหมือนกัน ฉะนั้นการเลือกนมแพ้แทนนมวัวนั้น ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการแพ้นมวัวสำหรับเด็กๆ แต่ก็มีผลเฉพาะบางคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถดื่นนมแพะแทนได้เนื่องจากทราบสาเหตุว่าเด็กคนนั้นแพ้น้ำเหลืองวัว ในนมวัวค่ะ

2.กลัวลูกแพ้เลยงดอาหารก่อน ทั้งๆ ที่ลูกยังไม่แพ้

คุณแม่ๆทั้งหลายเห็นจากคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง ว่าอาหารนั้นจะทำให้ลูกแพ้นะอาหารนี้จะทำให้ลูกแพ้นะ ก็เลยงดก่อนเลยกลัวลูกๆ จะแพ้บ้าง บอกเลยค่ะว่าการที่ทำแบบนี้ทำให้ภูมิร่างกายของเด็กๆ ไม่รู้จักสารอาหารชนิดนั้น อาจจะทำให้ลูกแพ้ไปอีก แถมยังทำให้ขาดสารอาหารอีกด้วย แต่ถ้าไม่แน่ใจคุณแม่ๆ ก็อาจจะพาลูกไปตรวจเพื่อความแน่ใจก่อนค่ะว่าลูกของเราเป็นภูมิแพ้หรือเปล่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะ

3.เลี้ยงสัตว์นอกบ้านแล้วภูมิแพ้จะหาย

สำหรับเด็กๆ ที่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วทางที่ดีที่สุดเลยก็คือไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีขนทุกชนิดเลยค่ะ หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงจริงๆ ก็ควรจะเลี้ยงแยกไปเลยโดยเลี้ยงเค้าไว้ที่นอกบ้าน ห้ามเอาเข้าบ้านเลยเด็ดขาด และควรพาสัตว์เลี้ยงไปทำความสะอาด อาบน้ำ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งนะคะ เพื่อลดปริมาณสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นเอง แต่ยังไงทางที่ดีก็ไม่ควรเลี้ยงเลยจะดีกว่าค่ะ เพราะขืนเลี้ยงอยู่ยังไงก็ทำให้แสดงอาการแพ้ขนสัตว์อีกอยู่ดี  เพราะขนสัตว์สามารถลอยฟุ้งในอากาศได้นาน ก่อให้เกิดสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์นั้นเองค่ะ

4.คัดจมูก หายใจไม่ออก แพ้อากาศ ดมยาดมก็หาย

การดมยาดมไม่ได้ช่วยให้จมูกลูกๆ โล่งขึ้นแต่อย่างใด แค่ช่วยให้รู้สึกเย็นสดชื่นแค่เท่านั้นเอง และการที่สูดเข้าไปบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอีกด้วย ทางที่ดีกินยาแก้แพ้จะดีกว่า ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ควรใช้เฉพาะตอนที่เริ่มรู้สึกหรือมีอาการเท่านั้นนะคะ

5.แพ้เสื้อผ้าขนสัตว์ก็เพราะว่าเป็นโรคภูมิแพ้ขนสัตว์

ในความเป็นจริงอาจจะเกิดจากการระคายเคืองของเสื้อผ้าที่มีเส้นใยหยาบ ซึ่งบางคนมีความไวต่อคุณภาพและความหยาบของขนสัตว์ชนิดนั้นๆ โดยก็ขึ้นอยู่กับการทำความสะอาดดูแลรักษาที่ทำอย่างไม่ถูกต้อง จึงทำให้เส้นใยขนสัตว์ที่อ่อนแอติดออกมาแล้วกระตุ้นก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ค่ะ และนอกจากนี้ผิวอาจจะไปโดนสารเคมีที่นำมาใช้ในการทำความสะอาดขนสัตว์ ทั้งสีที่ผสมต่างๆ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกันค่ะ แต่ไม่ใช่โรคภูมิแพ้ขนสัตว์แต่อย่างใดนะคะ

6.โรคภูมิแพ้ต้องทานยาตลอดชีวิต

โรคนี้จริงๆแล้วแพทย์ไม่ได้ให้ผู้ป่วยทานยา สูดยา หรือพ่นยา ไปตลอดชีวิต แต่เมื่อใดที่ผู้ป่วยสามารถลดสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบได้ ก็สามารถลดยาได้โดยจะมีแพทย์เป็นผู้ปรับยาให้นั้นเองค่ะ

7.ต้องเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะเป็น

บางคนเกิดมาเคยรับประทานอาหารชนิดนี้มาแล้วหลายครั้ง จู่ๆ ก็เพิ่งเกิดอาการแพ้ซึ่งตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้มีวี่แววว่าจะเป็น ซึ่งโรคภูมิแพ้นั้นไม่ได้มีมาติดตัวตั้งแต่เด็กๆ ก็ได้ บางคนเพิ่งมาเป็นตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มี เหตุผลก็เพราะว่าร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ภายหลังได้เช่นกัน

8.ทนทานต่อไปจนกว่าจะเลิกแพ้

บางคนเลือกที่จะค่อยๆ ทานต่อไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความเชื่อที่ว่าเดี๋ยวร่างกายก็จะได้ชิน วิธีอาจจะได้ผลเฉพาะผู้ป่วยที่แพ้ไม่รุนแรง แต่หายคนที่แพ้รุนแรงก็อาจจะทำให้ หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายสูบฉีดโลหิตเร็ว อาจจะทำให้ผู้ป่วยช็อคหมดสติ หรืออาจจะเสียชีวิตได้เพราะความกินให้ชินนี้เอง เพราะฉะนั้นไม่ควรคิดไปเองว่า แพ้อาหารชนิดไหนก็ทานต่อไปจนกว่าจะชิน เพราะมันไม่ได้มีผลดีต่อร่างกาย และไม่ได้โชคดีเสียทุกคนค่ะ ทางที่ดีควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดนะคะ

ที่มา : พญ. พลาณี วัฒนาสุรกิตต์ (กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้) , phyathai haamor