โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยเชื้อจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล และอุจจาระของผู้ป่วย หรือเกิดจากการไอ จามรดกัน
จากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 13 พ.ค. 2562 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 10,775 ราย มากที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี ร้อยละ 30.33 รองลงมา 2 ปี ร้อยละ 21.15 และ 3 ปี ร้อยละ 15.21
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน นับเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรคมือ เท้า ปาก โดยในช่วงเปิดเทอมเด็กต้องอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนจึงควรมีการตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบว่าเด็กไม่สบาย เป็นไข้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้หยุดเรียน
โดยเราสามารถเฝ้าระวังโรคได้โดยใช้หลัก 4 ร. คือ
1) ร.รักษาความสะอาดสถานที่ : เน้นล้างทำความสะอาดสถานที่ที่มีเด็กรวมตัวกันเยอะๆ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และบ้าน รวมไปถึงทำความสะอาดของเล่นที่เด็กนำเข้าปาก ให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง
2) ร.รักษาสุขอนามัย : ให้เด็กล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร และหลังขับถ่าย ด้วยน้ำและสบู่ ควรมีการแยกภาชนะเป็นรายบุคคล ไม่ให้ใช้ร่วมกัน
3) ร. รู้ทันสังเกต : สังเกตอาการของโรค คือ มีไข้ มีจุด หรือผื่นแดงบริเวณมือ เท้า ปาก อาจมีอาการเจ็บปากน้ำลายไหล ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบๆ อักเสบแดงและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
4) ร.ระวัง : หากเด็กมีไข้สูง หอบเหนื่อย ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบพาพบแพทย์ทันที
อ้างอิงจาก