โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้จึงทำให้โรคนี้ระบาดมากขึ้น จนตอนนี้มีเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก แล้วกว่า 30,000 ราย
จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ก.ค. 2561 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า และปาก 33,199 คน อัตราป่วยสูงสุดคือภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร้อยละ 98 เป็นเด็กเล็กและเด็กนักเรียน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปีถึงร้อยละ 68
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ตุ่มพองใสรอบ ๆ จุดแดงที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือและเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหาร และทายาที่แผลในปาก
โดยส่วนมากอาการจะทุเลาลงและหายได้ภายใน 7-10 วัน แต่ถ้าป่วยมาก 2-3 วันแล้วอาการแย่ลงคือ มีไข้สูงขึ้น มีอาการเหม่อลอย ผวา ชัก หรือซึมลงต้องรีบพาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีการป้องกันโรคคือ พ่อแม่ ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลต้องมีการคัดกรองโรคทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีไข้ มีตุ่มแดงภายในช่องปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วยเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และที่สำคัญจะต้องทำความสะอาด ห้องเรียน ของเล่น ที่นอน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเล่นภายในโรงเรียนเป็นประจำด้วย
อ้างอิงจาก