ในช่วงนี้มักมีข่าวออกอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายเมื่อมีพ่อ,แม่เลี้ยง, การถูกล่วงละเมิดทางเพศเด็กจากคนที่กลายมาเป็นผู้ปกครองคนใหม่ รึแม้แต่ปัญหา การเลี้ยงอย่างไม่ใยดีเพราะสนใจคนรักหรือครอบครัวใหม่มากกว่า ซึ่งความผิดนี้อาจไม่ได้เกิดจากการเลือกที่จะเริม่ต้นชีวิตกับคนใหม่ แต่อาจผิดที่รอบคอบไม่มากพอในการเลือกใครซักคนเข้ามาในชีวิต
การแต่งงานอีกครั้งหรือเริ่มชีวิตคู่ครั้งใหม่นั้นเป็นเรื่องที่นับว่าแทบจะพบเจอได้เป็นปกติแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าครอบครัวไหนก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร แต่มีอยู่หนึ่งสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องเป็นกังวล นั่นก็คือเมื่อมีคนรักคนใดคนหนึ่งมีสักขีพยานรักเก่าตามติดมาด้วยไม่ว่าฝ่ายไหน มักจะต้องมีการตกลงหรือทำความเข้าใจกันมากกว่าแค่เรื่องของคนสองคนเสมอ ซึ่งนั่นจึงเป็นข้อสำคัญที่การเริ่มต้นใหม่มักต้องมองให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจค่ะ เพราะเราอาจไม่ได้เริ่มต้นเหมือนการมีคู่ครองครั้งแรกที่ต่างคนต่างไม่มีพันธะ
ดังนั้นมีอะไรบ้างที่ควรเป็นคุณสมบัติให้กันและกัน ก่อนที่จะเริ่มต้นชีวิตแบบครอบครัวโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการเป็นคู่รักกันมาก่อน มาลองดูไปด้วยกันทีละข้อนะคะ ว่าทั้งเราและคู่ พร้อมแล้วหรือยัง
มีเด็กมาอยู่ด้วย
การเข้ากันได้กับเด็กในบ้าน
ไม่ว่าจะเป็นเด็กจากฝั่งไหน เราและคู่มักจะต้องมองความสำคัญของเขาเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้กับคู่ของเรา เพราะเด็กหรือลูกนั้นไม่ว่าจะเป็นของใคร ล้วนต้องการความรัก และความเอาใจใส่เสมอ ต้องยึดมั่นความรู้สึกของเด็กเป็นสำคัญ หากยังรู้สึกว่าอาจเข้ากันไม่ได้ หรือน่าจะยังมีเรื่องต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก เราอาจต้องใช้เวลา และปรับพฤติกรรมให้เข้าหากันให้ได้เสียก่อน จะเริ่มชีวิตใหม่ด้วยกันแบบครอบครัว ไม่เช่นนั้น ปัญหาต่างๆ อาจตามมาจนเกินจะแก้ไขได้ทันเช่น
- คนรักเราไม่ชอบลูกของเรา
- เราเข้ากับลูกของอีกฝ่ายไม่ได้
- เกิดความรู้สึกแย่ๆ ต่อกันเมื่อมีการขอให้เลือกข้างหรือชี้ใครผิดใครถูก
รักลูกให้เท่าเทียม ไม่แบ่งว่าลูกใครเป็นของใคร
ในอนาคตนั้น เมื่อคู่รักอยู่ด้วยกันแล้ว การมีสักขีพยานรักขึ้นมาอีกคนก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับบางครอบครัวที่ต้องการมีลูกเพิ่ม ซึ่งหากในครอบครัวนั้น มีสักขีพยานรักคนแรกหรือลูกติดมาจากครอบครัวแรกมาแล้วไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหนก็ควรยึดมั่นไว้เสมอว่า ลูกคนนี้จะยังคงต้องเป็นที่รักไม่ต่างไปจากเด็กที่เกิดมาจากคู่ครองคนใหม่ เพราะเด็กทุกคนล้วยต้องการความรัก และการเอาใจใส่ที่ดีที่สุด ต้องไม่แบ่งว่านี่ไม่ใช่ลูกที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข เลยรักน้อยลงได้ ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า
- รักลูกทุกคนไม่ว่าจะเกิดจากใครให้เท่าเทียม
- ไม่เปรียบเทียบลูกคนใหม่กับคนเก่า
- ไม่ผลักไสให้ไปอยู่ที่อื่น หากไม่มีเหตุจำเป็นอะไร
เด็กไม่ได้อยู่ด้วย
เปิดกว้างเรื่องพันธะหรือความผิดชอบของอีกฝ่าย
แน่นอนว่าการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคยมีครอบครัวมาแล้ว มักจะยังต้องมีความรับผิดชอบไม่ทางใดทางหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยังคงอยู่ในหน้าที่คุณพ่อคุณแม่ หรืออดีตคู่ครองที่ยังมีข้อตกลงในการส่งเสียเลี้ยงดูในกรณีเด็กได้ไปอยู่กับอีกฝ่าย ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นมากๆ ที่เราต้องทำความเข้าใจ และเปิดรับให้ได้ว่าคนรักของเรานั้น เคยมีพันธะที่ยังคงต้องรับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเลี้ยงดู, ทุนการศึกษา รึแม้แต่มีวันหยุดซักวันของเดือนที่คนรักของเราต้องกลับไปใช้กับลูกของคู่ครองคนเก่า เพราะหากไม่ได้ตกลงกันก่อน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้เช่น
- การถกเถียงกันในเรื่องค่าใช้จ่าย
- เกิดความระแวงว่าอาจกลับไปสานสัมพันธ์กับคนรักเก่า
- มีอคติกับตัวเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของคนรัก จนอาจทำให้นำไปสู่การทะเลาะที่ไม่จบสิ้น
ทำความเข้าใจเรื่องภาระค่าใช้จ่าย
เมื่อเรากลายเป็นครอบครัวใหม่ สิ่งหนึ่งเลยที่ต้องทำการพูดคุยให้เข้าใจตรงกัน และรับรู้ร่วมกันแต่แรกคือการใช้จ่ายเงินว่าจำเป็นต้องมีแบ่งหรือใช้ไปกับอะไรบ้าง ยิ่งเป็นเงินที่ช่วยกันหามา หรือเงินกองกลางแล้วยิ่งต้องมีการแยกให้ชัดเจนว่า กองกลางสำหรับเราและคู่ครองคือส่วนหนึ่ง และเงินส่วนตัวที่จะนำไปใช้กับเรื่องส่วนตัวอย่างการส่งเสียเลี้ยงดู ลูกจากคนรักเก่า ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ
- มีความชัดเจนในการใช้จ่ายว่าต้องจ่ายให้กับเรื่องใดบ้าง
- จำนวนเงินควรสัมพันธ์กับความพอดี เพื่อป้องกันการระแคะระคาย
และมีอีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ไม่ว่าเด็กนั้นจะอยู่ด้วยหรือไม่กับชีวิตคู่ของเราคือสรรพนามการเรียก แน่นอนว่า การมีครอบครัวใหม่ เราอาจมีสักขีพยานรับคนใหม่ ที่สามารถเรียกเราว่า พ่อหรือแม่ ได้อย่างเต็มปาก แต่กับลูกคนเดิม อาจไม่สะดวกใจหรืออาจไม่สามารถแทนกันได้อย่าง 100 % ก็คงรู้สึกไม่ดีที่อาจถูกบังคับให้เรียกตามคำที่เราต้องการ ฉะนั้นแล้ว สรรพนามที่ลูกจะให้กับคนรักของเราไม่ว่าจะเป็นฐานะคนรู้จัก หรือเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ก็ขอให้อย่าโกรธ และทำความเข้าใจว่ามันคือการตัดสินใจของลูก ไม่ใช่เราที่จะไปกำหนดได้ว่าควรเรียกหรือไม่ควรเรียกแบบไหน
และที่สำคัญที่สุด เมื่อเรารับรู้ได้ว่า คู่ครองคนใหม่ไม่ได้รักลูกของเราอย่างที่เราอยากให้รักหรือคุณสมบัติต่างๆ นั้นมีไม่มากพอ ต้องชั่งน้ำหนักให้มากว่าเราจะเอายังไงต่อไปกับการมีครอบครัว โดยที่ยังคงต้องยึดมั่นไว้เสมอว่าต้องอยู่บนความถูกต้อง และยุติธรรมกับทุกฝ่ายด้วย
ที่มา praewwedding , sanook