คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่านอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนใกล้ตัวแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหนูและอาหารที่เขารับประทานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากลูกน้อยมีความสัมพันธ์กับอาหารที่ไม่ดีตั้งแต่ยังเด็ก จะส่งผลให้เขามีปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับรูปร่าง น้ำหนัก และอาหารการกินไปจนถึงตอนเขาโตเป็นผู้ใหญ่ และอาจทำให้เขามีโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในที่สุดค่ะ
ซึ่งความสัมพันธ์กับอาหารที่ดีนั้นสามารถสร้างได้ตั้งแต่ยังเด็ก และเริ่มได้ในครอบครัวเรา จะทำอย่างไรได้บ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ
กินไม่หมดก็ไม่เป็นไรนะ
“กินอีกคำนะ เดี๋ยวก็หมดแล้ว” อาจเป็นความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ที่กลัวลูกจะไม่อิ่มท้อง แต่การบังคับให้ลูกกินให้หมดทั้ง ๆ ที่เขาอิ่มแล้วจะทำให้เขาเคยชินและ “ลืม” ลิมิตในการกินของเขาไป พยายามอย่าบังคับเมื่อลูกบอกว่าอิ่มแล้ว และยอมให้เขารับประทานอีกจานหากเขายังรู้สึกไม่อิ่มท้อง (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เขาทานแต่ขนมอย่างเดียวนะคะ)
สังเกตให้ดีและสอนให้เขาสังเกตตัวเองว่าเมื่อไรที่เขารู้สึกว่าได้รับอาหารเพียงพอแล้ว ให้ลูกน้อยหัดฟังร่างกายตัวเอง แล้วเขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าร่างกายของเขาต้องการอาหารมากน้อยแค่ไหน
ไม่มีอาหารที่ดีหรือแย่
เรามักจะมองว่าอาหารที่มีประโยชน์อย่างผักผลไม้เป็นอาหารที่ “ดี” ในขณะที่อาหารขยะหรือขนมหวานจะถูกมองเป็นอาหารที่ “แย่” จริงอยู่ว่าของหวานหรือขนมขบเคี้ยวนั้นไม่ใช่อาหารหลักและไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่อย่างไรก็ตาม อาหารก็คืออาหาร ไม่มีบุญบาปหรือผลกรรมในการรับประทานอาหารค่ะ
ถึงแม้ว่าลูกเราจะไม่ควรกินขนมเป็นมื้อหลักแต่การกินขนมเล็กๆน้อยๆก็ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามการตราหน้าว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นอาหารที่ไม่ดีจะส่งผลให้เขาแอบทานขนมในตอนที่เราไม่เห็นหรือทานขนมในปริมาณมากเมื่อเขามีโอกาส
ส่งเสริมให้เขากินอาหารที่มีประโยชน์โดยการอธิบายสรรพคุณหรือสิ่งดี ๆ ที่เขาจะได้รับจากอาหารประเภทนั้น ๆ ให้เขามีความรู้สึกดี ๆ กับอาหารทุกมื้อค่ะ
อย่าใช้อาหารเป็นรางวัล
บางครั้งวิธีการให้ลูกยอมทานผัก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องตั้งรางวัลให้เป็นของหวานหลังมื้ออาหารสักหน่อย หรือการไม่ยอมให้ลูกทานของหวานเป็นการลงโทษ ที่จริงแล้วเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับอาหารที่ไม่สมควรทำค่ะ เพราะเหมือนกับข้อที่แล้ว จะทำให้เขาเชื่อมโยงอาหารกับความดีหรือความไม่ดีได้ และทำให้เขารู้สึกว่าอาหารบางชนิดนั้นเป็นที่ต้องการหรือเป็นอาหารที่ “ดี” กว่าอาหารชนิดอื่น ๆ
นอกเหนือจากอาหารแล้ว ควรให้รางวัลเป็นของเล่นชิ้นน้อย ๆ สติ๊กเกอร์ การได้เล่นกับเพื่อน การได้ใช้เวลากับคุณพ่อคุณแม่ หรือกิจกรรมสนุก ๆ ที่สามารถทำกันได้ทั้งครอบครัวค่ะ
ทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา
รู้หรือไม่ว่าการทานอาหารกันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัวสามารถช่วยป้องกันพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดได้ด้วย ถึงแม้ว่าตารางเวลาและหน้าที่การงานอาจทำให้การทานอาหารร่วมกันเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่พยายามหาเวลาเพื่อรับประทานอาหาร ทำอาหาร หรือลองอาหารใหม่ ๆ ร่วมกันเป็นครอบครัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารและส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแข็งแรงขึ้นค่ะ
ไม่เอาน้ำหนักและรูปร่างเป็นที่ตั้ง
เป็นปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะเป็นห่วงเรื่องน้ำหนักและรูปร่างของเจ้าหนู แต่การล้อเลียนหรือแซวน้ำหนักและรูปร่างนั้นสามารถสร้างปมให้แก่ตัวเด็กและจะอยู่กับเขาไปจนถึงตอนโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กหรือวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเยอะกว่าเกณฑ์มักมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นใจในตัวเองและเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าจากการหยอกล้อของคนรอบข้าง
แทนที่จะใส่ใจเรื่องรูปร่างให้คุณพ่อคุณแม่พยายามเป็นกลางในเรื่องของน้ำหนักเพราะร่างกายของมนุษย์นั้นมีหลากหลายรูปแบบเป็นปกติที่รูปร่างและขนาดของร่างกายทุกคนจะไม่เหมือนกันสนับสนุนให้เจ้าหนูได้กินอาหารที่หลากหลายและให้เขาได้ออกกำลังกายในกีฬาหรือการละเล่นที่เขาชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นศิลปะการป้องกันตัวการเต้นระบำกีฬาหรือกิจกรรมต่างๆ