คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าลูกสาวของเราโตเร็วกว่าปกติหรือเปล่า เเละอาการนี้เกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไขแบบใดบ้างมาดูกันค่ะ

กลไกการเข้าสู่วัยสาวเป็นอย่างไร ?
อวัยวะสำคัญที่ควบคุมการเข้าสู่วัยสาว ได้แก่ ต่อมใต้สมองและรังไข่ โดยต่อมใต้สมองทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน gonadotropins ภายใต้การควบคุมจากสารชีวเคมีต่างๆ ในสมอง ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีปัจจัยใดที่เป็นตัวกระตุ้นสารชีวเคมีต่างๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ฮอร์โมน gonadotropins จากต่อมใต้สมองนี้จะมากระตุ้นรังไข่ในเด็กผู้หญิงให้ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง “เอสโตรเจน”
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าปัจจัยใดเป็นตัวควบคุมการเข้าสู่ความเป็นสาวหรือกระตุ้นให้เกิดการเริ่มสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายๆ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก หรือภาวะโภชนาการ ซึ่งจะพบว่าเด็กที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักเข้าสู่การเป็นสาวเร็ว ส่วนเด็กที่ผอมหรืออ้วนมากมักเข้าสู่การเป็นสาวช้ากว่าปกติ

เด็กโตเร็วกว่าปกติคืออะไร ?
โรคเด็กโตเร็วกว่าปกติมักจะเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ส่งผลให้เด็กมีเต้านม ประจำเดือน รังไข่ มดลูก หรือขนาดอัณฑะที่ขยายใหญ่ขึ้น พร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเลยก็ตามโรคเด็กโตเร็วกว่าปกติ หรือโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) มีอันตรายต่อความสูงและการเจริญเติบโตของเด็กมาก เพราะจะทำให้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็ว ซึ่งจะทำให้หัวกระดูกก้านยาวปิดเร็วกว่ากำหนด อันจะทำให้โครงสร้างกระดูกหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร ยกตัวอย่างเด็กที่เป็นโรคนี้จะสูงเร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่พอโตขึ้นกลับสูงไม่ถึง 154 เซนติเมตร หรือเตี้ยกว่าเพื่อนร่วมรุ่น 10-15 เซนติเมตร
สาเหตุที่ทำให้เด็กโตเร็วกว่าปกติมีอะไรบ้าง ?
- มีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองก่อนวัยอันควร นั่นก็คือโกรทฮอร์โมนและฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ถ้าพ่อแม่มีประวัติเข้าวัยหนุ่มสาวเร็ว ลูกก็จะเป็นหนุ่มสาวเร็วด้วย เป็นต้น
- เกิดจากวิตามินหรือยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ และมักจะอวดอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วจะโตเร็วขึ้น เมื่อคุณแม่ซื้อให้เด็กกินก็จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมไขมันนร่างกายเด็กมากขึ้น ทำให้ดูอวบ ๆ ตัวโตกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
- แนวโน้มว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของเด็กในยุคปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารของเด็กยุคนี้กับเด็กยุคก่อนค่อนข้างแตกต่างกัน และเด็กในยุคนี้ก็เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณไขมันจากอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นวัตถุดิบของฮอร์โมนเพศมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะโตก่อนวัยได้
- กินอาหารบำรุงประเภทครบเครื่องสมุนไพรจีน ซึ่งล้วนอุดมไปด้วยสารฮอร์โมน ถ้าให้เด็กกินมากไป อาจเสี่ยงโตไวเกินควรได้ค่ะ
- นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัดเท่าไรนัก เนื่องจากโดยสถิติแล้วทุก ๆ 20 ปี มนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นประมาณ 6 เดือนหรือหนึ่งปีของอายุเกณฑ์เดิม ซึ่งในปัจจุบันเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8 ขวบ

เด็กผู้หญิงโตเร็วกว่าปกติสังเกตได้จากอะไรบ้าง ?
- เริ่มมีหน้าอกและเต้านมโต
- มีการตกขาวภายใน ก่อนอายุ 8 ขวบ
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ขวบ
- ขนขึ้นตรงอวัยวะเพศเร็ว

ผลเสียของการโตเร็วก่อนวัยอันควรมีอะไรบ้าง ?
- เตี้ยกว่าปกติเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้เด็กโตเร็ว เด็กจะสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่ก็เป็นผลทำให้กระดูกปิดเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ระยะเวลาการเจริญเติบโตจึงสั้นกว่าคนทั่วไป เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่จึงเตี้ยกว่าปกติ
- ปัญหาทางด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กสาวที่เป็นสาวก่อนวัยจะมีร่างกายเหมือนเด็กสาววัยรุ่น แต่จิตใจยังเป็นเด็ก บางรายอาจรู้สึกอายเพื่อนเพราะมีเต้านมโต ในขณะที่เพื่อนๆ ยังไม่มีเต้านม บางรายอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศและเกิดการตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยเด็กได้
- มีข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ว่า การมีเต้านมขึ้นเร็วจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงในเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะเซลล์เนื้อเยื่อผิดปกติได้
- เนื่องจากร่างกายที่โตเกินวัย อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กถูกข่มเหงรังแกจากเพศตรงข้าม หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลภายนอกได้ง่าย
- แม้จะยังเป็นเด็กแต่ด้วยฮอร์โมนและสภาพร่างกายที่ดูโตเกินวัย อาจทำให้เกิดภาวะท้องไม่พร้อมขึ้นได้กับเด็กกลุ่มนี้

วิธีการรักษาเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยทำได้อย่างไร ?
การรักษาจะเริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ โดยซักประวัติการรับประทานยาชนิดต่างๆ หรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อนฮอร์โมนเพศหญิง ร่วมกับการตรวจดูประวัติการเจริญเติบโตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาว่าโตเร็วขึ้นกว่าปกติหรือไม่ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเอกซเรย์เพื่อประเมินการเจริญเติบโต ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์รังไข่หรือตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) หากพบว่ามีสาเหตุจากเนื้องอกที่รังไข่หรือในสมองอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด (ในบางกรณี) ถ้าตรวจไม่พบสาเหตุแต่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสูง อาจให้การรักษาเพื่อชะลอการเข้าสู่วัยรุ่นโดยการใช้ยาฉีดซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชื่อ GnRH analogue ยานี้เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ต้องฉีดทุก 4 สัปดาห์ และควรฉีดติดต่อกันไปจนเด็กอายุประมาณ 12-14 ปี

วิธีป้องกันการเป็นสาวก่อนวัยอันควรทำได้อย่างไรบ้าง ?
- ควรจัดโภชนาการให้ลูกอย่างเหมาะสม ให้เขาได้รับอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
- ไม่ควรกินอาหารฟาสต์ฟูดเกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมถึงอาหารทอดด้วย
- ไม่ควรกินยาบำรุงสำหรับเด็ก
- ควบคุมน้ำหนักให้ดี หากลูกอ้วนเกินไปให้ชวนเขาลดน้ำหนัก
- ใส่ใจลูกอย่างใกล้ชิด พยายามสังเกตการเติบโตของเขาว่าผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีภาวะโตเกินวัยให้รีบไปรักษาก่อนที่ประจำเดือนเขาจะมา
อาการทั้งหลายของลูกน้อยนั้นคุณแม่ควรเฝ้าดูและเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่คลาดสายตาเมื่อเกิดอะไรขึ้นค่ะ
ที่มา