ซีรีส์ “เด็กใหม่”
ซีรีส์ที่มีแรงบันดาลใจมาจากข่าวฉาวเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน 13 โรงเรียน เป็นผู้หญิงถูกกระทำและโดนเอาเปรียบในสังคม นำแสดงโดย “คิทตี้ ชิชา อมาตยกุล” ในบท “แนนโน๊ะ” ที่เป็นตัวแทนผู้หญิงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเด็กผู้หญิงวัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา และเป็นเด็กใหม่ที่ย้ายโรงเรียนทุกตอน ในทุกครั้งที่ย้ายโรงเรียนก็จะหลุดเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวมากมาย ที่มีความลึกลับหรือบางครั้งก็เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยตอนแรกเป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ซึ่งผู้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กมักเป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย และมักเป็นบุคคลที่เด็กไว้วางใจอย่างเพื่อน หรือคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเด็ก เช่น ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู เป็นต้น

การล่วงละเมิดทางเพศ
การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Bullying) เป็นพฤติกรรมนี้เกิดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการคุกคามคนอื่นๆ ผ่านการแสดงความคิดเห็นและการกระทำในแนวลามก โดยการล่วงละเมิดทางเพศสามารถกระทำการผ่านทางออนไลน์หรือในแบบซึ่งหน้า มีการพบว่าเมื่อวัยรุ่นถูกล่วงละเมิดทางเพศไปแล้ว มักมีแนวโน้มที่จะโดนแกล้งแบบอื่นอีก เช่น โดน ข่มขู่ ตกเป็นเป้าของการนินทา ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ กีดกันไม่ให้ร่วมกลุ่ม หรือทำให้รู้สึกอับอาย

แค่ไหนถึงเรียกว่า “ล่วงละเมิดทางเพศ”
ขอบเขตของการล่วงละเมิดทางเพศนั้นค่อนข้างกว้าง เราลองมาดูตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่ายของการล่วงละเมิดทางเพศ ว่ามีอะไรบ้าง
- จับต้องร่างกายผู้อื่นด้วยความคุกคาม
- ถ่ายภาพเปลือยหรือภาพเกี่ยวกับการร่วมเพศ ที่ให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออับอาย
- การโพสต์แสดงความคิดเห็นทางเพศ ด้วยภาพ วิดีโอ ลามก ลงบนสื่อออนไลน์
- พูดเรื่องตลกทางเพศไปในแนวลามก
- ทำท่าทางร่วมเพศกับผู้อื่น
- เรียกชื่อผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยอย่างชัดเจนและทำให้เสื่อมเสีย อับอาย
- เปิดกระโปรงหรือเสื้อผ้าคนอื่นเพื่อเจตนาลามก
- กระจายข่าวลือเรื่องการร่วมเพศ
- ส่งข้อความลามก หรือ Sexting

สัญญาณการถูก “ล่วงละเมิดทางเพศ”
จุดต่อไปนี้เป็นสัญญาณเตือนที่แสดงออกมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกของตัวเอง เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
- มีแผลฟกช้ำที่ร่างกาย อวัยวะเพศ
- มีอาการซึมเศร้า และเก็บตัว
- ผลการเรียนตกต่ำลง
- เด็กมีอารมณ์แปรปรวน
- มีอาการฝันร้าย ผวา หรือนอนไม่หลับ
- กลัวการอยู่ลำพังกับผู้ใหญ่ หรือหวาดกลัวคนบางประเภท
- พูดว่าอยากทำร้ายตัวเอง หรือพยายามทำร้ายตัวเอง
- หนีออกจากบ้าน

เหตุจูงใจ
นอกจากผู้ใหญ่ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ก็มีบางกรณีที่เด็กๆ เป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศเสียเอง โดยมีสาเหตุมาจาก
- กระทำเพื่อแสดงอำนาจ เมื่อรู้สึกอ่อนแอเด็กหลายคนกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเคยถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน
- ต้องการการยอมรับจากคนในกลุ่ม ทำให้เด็กผู้ชายจะล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้หญิง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างหรือเพื่อแสดงลักษณะว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ทางเพศ
- เพื่อเป็นการสร้างความตื่นเต้น ผู้นิยมการล่วงละเมิดทางเพศบางคนเพลิดเพลินในการเล่าเรื่องราวไม่ดี แพร่กระจายข่าวลือ หรือการแบ่งปันข่าวเชิงลบเกี่ยวกับผู้อื่น
- เพื่อลดความไม่มั่นคงในชีวิต การล่วงละเมิดทางเพศเหมือนเป็นสิ่งปกป้องความรู้สึกด้านความไม่เพียงพอและความนับถือตนเองต่ำ
- เพื่อลดการแข่งขัน เด็กผู้หญิงบางคนกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กผู้หญิงคนอื่นเพราะความอิจฉา อาจรู้สึกว่าเพื่อนของเธอสวยอย่างชาญฉลาดหรือเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ชายมากกว่า
- เพื่อเลียนแบบ บางครั้งเด็กจะมีส่วนร่วมในการล่วงละเมิดทางเพศจากสิ่งที่เห็นคนอื่นทำเพื่อเลียนแบบคนอื่นๆ อิทธิพลเช่นนี้รวมถึงการกระทำทุกอย่างจากผู้ใหญ่ในชีวิตจริง หรือสื่อต่างๆ ที่พบเจอ

รับมืออย่างไร
การล่วงละเมิดทางเพศกจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีผู้ใหญ่อยู่รอบๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ หากพบว่าบุตรหลานของตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถรับมือได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เมื่อเด็กๆ แสดงออกว่าต้องการบอกเล่าปัญหา หรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อนเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเขาได้ ควรแสดงตนว่าพร้อมที่จะรับฟังเขา ช่วยเหลือเขาในทุกกรณี เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ แม้ว่าเรื่องราวที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงจนเหลือเชื่อ ก็ขอให้ตั้งสติรับฟังเรื่องราวอย่างสงบ
- กรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าได้อย่างต่อเนื่องเพราะความสะเทือนใจ ผู้ปกครองควรปลอบโยนให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาหมด เขาจะได้รับความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทุกเรื่อง และถ้าเด็กจะไม่เล่าว่าผู้กระทำคือใคร ก็ไม่ควรไปคาดคั้น แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ เพื่อกำหนดวงผู้ต้องสงสัย และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะทำได้ การทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอไป เพราะยังมีวิธีค้นหาอื่นๆ อีก
- วิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริงรายละเอียดในการเล่าแต่ละครั้งจะไม่ตรงกัน ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งนี้ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องจริงก็ได้แต่เด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อย หรือยังมีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ จึงเล่ารายละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เราจึงต้องค่อยๆฟังและจับเรื่องราวต่างๆมาวิเคราะห์แล้วหาวิธีการช่วยเหลือต่อไป
- แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ หรือแจ้งตำรวจทันทีหากทราบรายละเอียดแล้ว โดยแจ้งว่า ผู้กระทำเป็นใคร(หากทราบ) เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่ที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งตัวเด็กเองและเด็กคนอื่นๆไม่ให้เจอสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
- ระหว่างนี้พาเด็กไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันให้เด็กว่าจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่นๆที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ก็เก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้บอกให้เด็กเข้าใจว่าเราถ่ายไปเพื่ออะไร และไม่นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
- พาเด็กไปตรวจรักษา (อาจร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือพาเด็กไปตรวจเองก่อนเพื่อความรวดเร็ว) เพื่อรวบรวมหลักฐาน ห้าม!! ชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ หากถูกกระทำผ่านมาหลายวันแล้วก็ควรที่จะตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วย
เห็นได้ว่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็กเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ สังเกตบุตรหลานของตัวเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กๆ โตขึ้นมาอย่างมีความสุข และไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น ถ้าสนใจสามารถติดตามชมซีรีส์ “เด็กใหม่” ทุกวันพุธ เวลา 22.25 น. ทางช่อง GMM25 และชมย้อนหลังได้ทุกวันเสาร์ เวลา 23.55 น. ทางช่อง GMM25
ขอบคุณข้อมูลจาก-
ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
http://www.thaichildrights.org/articles/article-defence/สัญญาณบอกเหตุ-เด็กถูกล/
http://www.thaichildrights.org/articles/article-defence/เมื่อรู้ว่าเด็กถูกล่วง/
https://www.honestdocs.co/what-is-sexual-bullying-and-why-do-kids-engage-in-it