ทำไมทานอาหารชนิดนี้เเล้วผื่นขึ้นนะ ?? เป็นความรู้สึกที่คุณพ่อคุณแม่กังวลเมื่อพบว่าลูกแพ้อาหาร ซึ่งจากการสำรวจการแพ้อาหารในเด็กไทย พบว่ามีอาหารยอดนิยม 8 อย่างที่เด็กๆ มักแพ้กัน มาดูกันค่ะว่าอาหารสุ่มเสี่ยงเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร ถ้าลูกมีอาการแพ้อาหารเหล่านั้น
1. นม
นมในที่นี้ไม่ได้เเค่ “นมวัว” เท่านั้น เเต่ยังรวมไปถึงนมเเม่ด้วย ซึ่งสารอาหารในนมแม่ก็มาจากสิ่งที่คุณแม่ทานเข้าไปนั่นเอง ดังนั้นถ้าลูกของคุณแม่มีอาการแพ้นมวัว ก็ควรที่จะงดรับประทานนมวัวด้วย
นมสูตรพิเศษเพื่อเด็กที่มีอาการแพ้
- นมที่ทำจากพืช
ถ้าลูกมีอาการแพ้นมวัว แต่ไม่มีอาการแพ้ถั่วเหลือง คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกนมผงที่มีส่วนผสมสกัดจากถั่วเหลืองทดแทนกับลูกได้ เเต่ไม่ต้องเป็นห่วงไปว่าสารอาหารจะน้อย เพราะปัจจุบันผู้ผลิตได้เพิ่มสารอาหารจำเป็นต่างๆ เข้าไปเรียบร้อยเเล้ว
- นมจากน้ำนมไก่
ทำมาจากอกไก่ผ่านกระบวนการที่ทำให้โปรตีนคงตัว เเล้วละลายให้เป็นนม โดยหาซื้อนมชนิดนี้ได้จากโรงพยาบาลศิริราช
- นมที่ทำจากโปรตีนย่อยสลาย ทำให้เกิดอาการแพ้น้อยลง
เป็นนมที่ใช้รักษาทารกที่มีอาหารแพ้นมวัว ตั้งแต่แบบน้อยๆ ไปจนถึงระดับปานกลาง ซึ่งในการหาซื้อสามารถสังเกตได้จากคำว่า Partial หรือ Ex-tensive
- นมสูตรกรดอะมิโน
เหมาะกับเด็กที่แพ้นมวัวแบบรุนแรง มีโครงสร้างเป็นกรดอะมิโนแบบ 100% ตอนนี้มี “นมข้าวอะมิโน” ที่สกัดมาจากข้าว เเละหาซื้อได้จากโรงพยาบาลศิริราช
อาหารที่มีส่วนประกอบ: เบอเกอรี่ชนิดต่างๆ ครีม ชีส ลูกอมรสนมช็อกโกแลต ซาลาเปาบางยี่ห้อ ไส้กรอกบางยี่ห้อ ไอศกรีมกะทิสดบางสูตร ไข่กวน ซุปข้น พิซซ่า ต้มยำ ฯลฯ
2. ไข่
เด็กที่แพ้ไข่มักคันตามลำตัว ข้อพับ แก้ม ซึ่งบางคนก็คันมากๆ จนทำให้เกาถึงขนาดน้ำเหลืองไหล หรือเกาจนเลือดออก โดยอาการมีทั้งมาจากแพ้แค่ไข่แดง ไข่ขาว หรือแพ้หมดทั้งคู่ แต่ส่วนใหญ่มักพบที่แพ้ไข่ขาวมากกว่า แต่ถ้ามีอาการแพ้ก็ควรให้ลูกงดการทานไข่ไปก่อน เด็กที่แพ้ไข่มีโอกาสหายแพ้มากกว่าการแพ้อาหารชนิดอื่นๆ
อาหารที่มีส่วนประกอบ: ไอศกรีม มายองเนส น้ำสลัด มูส ไข่ดาว ไข่ลวก เบเกอรี่ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่ทอด บะหมี่ พาสต้า ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ
3. แป้งสาลี
ในแป้งมี “กลูเตน” เป็นโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะให้เด็กๆ งดทานในทุกรูปแบบ เพราะในบางรายแพ้หนักๆ จนถึงขนาดที่หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก เสี่ยงต่อการช็อก จึงควรงดเพื่อให้อาการแพ้ลดลง เเละหายจากการแพ้ที่สุด
อาหารที่มีส่วนประกอบ: เบเกอรี่ชนิดต่างๆ มักกะโรนี สปาเกตตี เกี๊ยว พาสต้า บะหมี่ ไส้กรอก พิซซ่า แฮม ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมถุงต่างๆ ซีอิ๊ว ซอสถั่วเหลือง เห็ดหอม เต้าเจี้ยว โอวัลติน ฯลฯ
4. กุ้ง, หอย, ปู, ปลาหมึก
เป็นการแพ้กลุ่มสะตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มักพบในเด็กโตแล้ว ซึ่งอาการแพ้มีหลายแบบทั้งแพ้แบบเฉพาะส่วน แพ้ใระดับความสุกที่แตกต่างกัน โดยมักจะมีผื่นขึ้น คันคอ หรือรุนแรงขนาดแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกไปเลย ควรหมั่นสังเกตอย่างละเอียด
อาหารที่มีส่วนประกอบ: เมนูอาหารทะเลต่างๆ
5. ถั่วเหลือง
การแพ้ถั่วลิสงกับถั่วเหลืองนั้นแยกกัน เเละเด็กๆ ที่แพ้ถั่วเหลืองก็สามารถทานถั่วอื่นๆ ได้
อาหารที่มีส่วนประกอบ: ถั่วเเระ โชยุ นัตโตะ มิโสะ นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ ซีอิ๊ว หมี่กรอบ ฯลฯ
6. ปลา
การแพ้ปลากับแพ้อาหารทะเลแยกส่วนกัน เพราะปลาจัดอยู่ในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เด็กไทยจำนวนไม่มากที่มีอาการแพ้ปลา เเละบางคนก็แพ้เพียงบางสายพันธ์ุ เช่น ปลาทะเล ปลาน้ำกร่อย หรือปลาน้ำจืดเท่านั้น (แต่หากมีอาการแพ้ปลานิลก็ไม่ควรทานปลาทับทิม เพราะผสมสายพันธ์ูมาจากปลานิล)
- ตัวอย่างปลาทะเล ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาอินทรี ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาทราย ปลาน้ำดอกไม้ ปลาสำลี ปลาโอ ปลาหิมะ ปลาหางเหลือง ปลากระบอก ปลาดอรี่(Zenopsis conchifera)
- ตัวอย่างปลาน้ำกร่อย ปลาทับทิม(มีพันธุ์ในน้ำจืดด้วย)
- ตัวอย่างปลาน้ำจืด ปลาดอรี่(สวาย) ปลากราย ปลาช่อน ปลานิล ปลาดุก ปลาสลิด ปลาเนื้ออ่อน ปลาแรด
7. ถั่วลิสง
อาหารที่แพ้แล้วมักจะแพ้ตลอดชีวิต ซึ่งบางรายก็อาจมีอาการรุนแรงขั้นเสียชีวิต แ่มีการค้นพบว่าเด็กๆ ที่แพ้ถั่วลิสงอาจยังสามารถทานถั่วชนิดอื่นๆ ได้ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง
อาหารที่มีส่วนประกอบ: เนยถั่ว ข้าวเม่า เมี่ยง ซอสหรือน้ำจิ้ม ลูกอมใส่ถั่ว เบอเกอรี่บางชนิด อาหารเวียดนาม อินโดนิเซีย เม็กซิกัน ฯลฯ
8. อื่นๆ
นอกจากอาการแพ้ตามข้างบนที่กล่าวมา ยังมีการแพ้อาหารอื่นๆ (แต่ไม่เยอะ) เช่น ผักผลไม้ แพ้งา แพ้กะทิ แพ้สัตว์ปีก ที่พบไม่มากในเด็กไทย โดยอาการเมื่อแพ้อาจรู้สึกคันปากเเละคันคอ มีผื่นขึ้น ซึ่งถ้าพบว่าลูกมีอาการแพ้ผัก ผลไม้สด ก็ลองนำมาผ่านความร้อนดู เพราะอาจจะช่วยได้ เเละนอกจากนั้นการทานแล้วเกิดผื่นขึ้นรอบๆ ปาก ได้จาก 2 สาเหตุ คือ การระคายเคือง และอาการแพ้จริงๆ
ถ้าหากทานอาหารชนิดไหนแล้วมีอาการคัน มีผื่นขึ้น ก็ควรไปทดสอบให้แน่ชัด โดยแพทย์จะมีวิธีทดสอบกับผิวหนังของเด็กๆ ว่าแพ้จริงหรือไม่ ควรดูแลตัวเองอย่างไร เเละอยากให้กำลังกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแพ้อาหารบางชนิด เพราะเมื่อโตขึ้นยังมีโอกาสหายได้ค่ะ 😀
ขอบคุณข้อมูลจาก – หนังสือ “ชัยชนะของเด็กขี้แพ้”
เขียนโดย: รศ.พญ. พรรณทิพา ฉัตรชาตรี, ธันธิดา จิวะพรทิพย์, ดร.ศรัญธินี มงคลรัตน์