ในปัจจุบัน “ความพิการแต่กำเนิด” เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญ เพราะในแต่ละปีมีเด็กที่คลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิดถึงปีละ 30,000 คน อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงได้มีมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญมาตรการหนึ่งในการที่จะคุ้มครองสิทธิของแม่และเด็กที่จะเกิดมาในภายหลัง
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขถึงนโยบายและแผนการดำเนินงานเพื่อลดความพิการแต่กำเนิดโดยการกำหนดให้วิตามินโฟลิก (Folic Acid) เป็นส่วนประกอบในอาหารตามข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อปี 2560 โดยมีความคืบหน้าคือ
องค์การเภสัชกรรมจะเร่งรัดการผลิตวิตามินโฟลิกในปริมาณที่เหมาะสมที่หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับประทานต่อเนื่องทุกวันในช่วงก่อนและหลังตั้งครรภ์ 3 เดือน คือ ขนาดเม็ดละ 400 ไมโครกรัม (0.4 มิลลิกรัม)นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีการผสมวิตามินโฟลิกในอาหารที่เหมาะสมที่คนไทยรับประทานเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ความพิการแต่กำเนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์รับประทานวิตามินโฟลิก (Folic Acid) หรือ บี 9 ในปริมาณที่เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนและหลังตั้งครรภ์ 3 เดือน ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงจากการพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 20 – 50 และลดโอกาสการเกิดและการเกิดซ้ำความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทได้ถึงร้อยละ 70
อ้างอิงจาก